สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 8 ก.ย. 2563

สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 8 ก.ย. 2563


ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงติดต่อกันเป็นวันที่ 3 เมื่อคืนนี้ (8 ก.ย.) ขณะที่ดัชนี Nasdaq ดิ่งลงอย่างหนัก เนื่องจากนักลงทุนกระหน่ำขายหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับข้อพิพาทระหว่างสหรัฐและจีน หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศว่าจะลดระดับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐและจีน พร้อมกับขู่ว่าจะเรียกเก็บภาษีบริษัทสหรัฐที่ออกไปสร้างงานในจีนและประเทศอื่นๆ

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 27,500.89 จุด ลดลง 632.42 จุด หรือ -2.25% ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,331.84 จุด ลดลง 95.12 จุด หรือ -2.78% ขณะที่ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 10,847.69 จุด ลดลง 465.44 จุด หรือ -4.11%

 

ตลาดหุ้นยุโรปปิดปรับตัวลงเมื่อคืนนี้ (8 ก.ย.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกว่าอังกฤษจะถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (EU) โดยไม่มีการทำข้อตกลงการค้า ขณะที่การร่วงลงของหุ้นกลุ่มพลังงานและกลุ่มเทคโนโลยีถ่วงตลาดลงมากที่สุด

ดัชนี Stoxx Europe 600 ลดลง 1.15% ปิดที่ 363.75 จุด

ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 4,973.52 จุด ลดลง 80.20 จุด หรือ -1.59%, ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 5,930.30 จุด ลดลง 7.10 จุด หรือ -0.12% และดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 12,968.33 จุด ลดลง 131.95 จุด หรือ -1.01%

 

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดปรับตัวลงเมื่อคืนนี้ (8 ก.ย.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกว่า อังกฤษจะถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (อียู) โดยไม่มีการทำข้อตกลงการค้า ซึ่งความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการเจรจาในเรื่องดังกล่าวยังคงกดดันตลาดในสัปดาห์นี้

ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 5,930.30 จุด ลดลง 7.10 จุด หรือ -0.12%

 

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงหลุดจากระดับ 37 ดอลลาร์เมื่อคืนนี้ (8 ก.ย.) เนื่องจากนักลงทุนยังคงกังวลว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมัน นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากข่าวซาอุดีอาระเบียวางแผนที่จะปรับลดราคาน้ำมันดิบในเดือนต.ค.

สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนต.ค. ร่วงลง 3.01 ดอลลาร์ หรือ 7.6% ปิดที่ 36.76 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย.ปีนี้

สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนพ.ย. ร่วงลง 2.23 ดอลลาร์ หรือ 5.3% ปิดที่ 39.78 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย.ปีนี้

 

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ (8 ก.ย.) เนื่องจากการร่วงลงอย่างหนักของตลาดหุ้นสหรัฐได้กระตุ้นให้นักลงทุนเข้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย อย่างไรก็ดี สัญญาทองคำปรับตัวขึ้นเพียงเล็กน้อย เนื่องจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ได้สกัดแรงบวกของทองคำ

สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนธ.ค. เพิ่มขึ้น 8.9 ดอลลาร์ หรือ 0.46% ปิดที่ 1,943.2 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนธ.ค. เพิ่มขึ้น 27.9 เซนต์ หรือ 1.04% ปิดที่ 26.991 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนต.ค. เพิ่มขึ้น 12.1 ดอลลาร์ หรือ 1.35% ปิดที่ 910.3 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนธ.ค. ร่วงลง 37.40 ดอลลาร์ หรือ 1.6% ปิดที่ 2,305.80 ดอลลาร์/ออนซ์

 

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (8 ก.ย.) เนื่องจากนักลงทุนเข้าซื้อดอลลาร์ซึ่งเป็นสกุลเงินปลอดภัยและมีสภาพคล่องสูง หลังจากตลาดหุ้นสหรัฐดิ่งลงอย่างหนัก ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลง เนื่องจากความกังวลที่ว่าอังกฤษอาจจะไม่สามารถทำข้อตกลงการค้ากับสหภาพยุโรป (EU)

ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.40% แตะที่ระดับ 93.4450 เมื่อคืนนี้

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9173 ฟรังก์ จากระดับ 0.9162 ฟรังก์ และแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3222 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3094 ดอลลาร์แคนาดา แต่หากเทียบกับเงินเยน ดอลลาร์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 106.03 เยน จากระดับ 106.28 เยน

เงินปอนด์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.2990 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3168 ดอลลาร์ ขณะที่ยูโรอ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.1780 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1811 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.7215 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7276 ดอลลาร์สหรัฐ

Back to top button