พาราสาวะถี

ละล่ำละลัก “ขอโทษ” ม็อบไม่หยุดปากสำหรับผู้บัญชาการเหตุการณ์ในวันที่คณะราษฎร 63 เคลื่อนขบวนไปยังเป้าหมายสำนักพระราชวัง เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา หลังจากเจ้าหน้าที่ได้ฉีดน้ำแรงดันสูงเข้าใส่ผู้ชุมนุม แน่นอนว่าเป็นปฏิบัติการณ์ที่ไร้การเจรจาใด ๆ ถือเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดอย่างชัดเจน ดีที่ว่าไม่ทำให้สถานการณ์บานปลาย เพราะการดำเนินการดังกล่าวนั้น เป็นการกระทำกับแนวหน้าของม็อบที่เคลื่อนไปเพื่อเจรจาและป้องกันเหตุรุนแรง รวมถึงจำนวนไม่น้อยที่อยู่ในนั้นก็คือสื่อมวลชนที่ไปรายงานข่าว


อรชุน

ละล่ำละลัก ขอโทษ” ม็อบไม่หยุดปากสำหรับผู้บัญชาการเหตุการณ์ในวันที่คณะราษฎร 63 เคลื่อนขบวนไปยังเป้าหมายสำนักพระราชวัง เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา หลังจากเจ้าหน้าที่ได้ฉีดน้ำแรงดันสูงเข้าใส่ผู้ชุมนุม แน่นอนว่าเป็นปฏิบัติการณ์ที่ไร้การเจรจาใด ๆ ถือเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดอย่างชัดเจน ดีที่ว่าไม่ทำให้สถานการณ์บานปลาย เพราะการดำเนินการดังกล่าวนั้น เป็นการกระทำกับแนวหน้าของม็อบที่เคลื่อนไปเพื่อเจรจาและป้องกันเหตุรุนแรง รวมถึงจำนวนไม่น้อยที่อยู่ในนั้นก็คือสื่อมวลชนที่ไปรายงานข่าว

คำถามสำคัญต่อการจัดกองกำลังในการรับมือกับกลุ่มผู้ชุมนุมคนรุ่นใหม่นั้นก็คือ ทำไมสำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงเลือกใช้ตำรวจตระเวนชายแดน ไม่ใช่ตำรวจควบคุมฝูงชนเหมือนที่ผ่านมา เหมือนเป็นการขู่ไปในตัวหรืออีกด้านคือพร้อมที่จะปะทะกับฝ่ายตรงข้ามอยู่ตลอดเวลาใช่หรือไม่ ทั้งที่ม็อบของคณะราษฎรที่ผ่านมาทุกครั้งนั้นก็เห็นกันอยู่แล้วว่า เน้นหลักอหิงสาไม่ก่อความรุนแรงใด ๆ ทั้งสิ้น ตรงนี้ถือเป็นทัศนคติที่น่าคิดอยู่พอสมควรสำหรับฝ่ายกุมอำนาจ

ยิ่งหากไปพิจารณาแนวทางในการตัดสินใจต่อการใช้กำลังในการเข้าจัดการกลุ่มผู้ชุมนุมทั้งที่ไม่มีความรุนแรงยิ่งน่าเป็นห่วง นั่นก็คือ ให้ฝ่ายตรงข้ามเจ้าหน้าที่ต้องฟังคำสั่ง หากไม่ทำตามที่สั่งถือว่าไม่ให้ความร่วมมือจึงต้องจัดการ หากเป็นเช่นนี้ต่อให้กลุ่มเคลื่อนไหวยึดหลักการกันอย่างไร สุดท้าย ก็มีโอกาสที่จะนำไปสู่เหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันได้ตลอดเวลา กรณีเช่นนี้ผบ.ตร.และผู้ใต้บังคับบัญชาคงต้องพิจารณากันใหม่ หรือมองว่าฝ่ายชุมนุมคือศัตรูสำคัญของประเทศชาติที่จะต้องจัดการให้เด็ดขาด

ไม่ต้องพูดถึงผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจที่หลับหูหลับตาอ้างหลักการข้อกฎหมายเพียงอย่างเดียว สุดท้าย สิ่งที่ขับเคลื่อนกันก็อย่างที่บอกเต็มไปด้วยเล่ห์เหลี่ยมกลเกมเพื่อยื้อเวลาอย่างน่ารังเกียจ เหมือนกรณีส.ว.ลากตั้งล่ารายชื่อเพื่อยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อ้างว่าจะได้เกิดความสบายใจทุกฝ่าย ก็ถ้าคิดกันเช่นนั้น ทำไมไม่ยื่นไปตั้งแต่ก่อนจะลงมติตั้งคณะกรรมการยื้อเวลาแก้รัฐธรรมนูญเมื่อ 24 กันยายนที่ผ่าน

พฤติกรรมเช่นนี้อย่าได้บอกว่าท่านผู้นำไม่รู้ไม่เห็น เป็นการใช้กลไกที่ตัวเองวางไว้ทั้งหมด เพื่อดึงเวลาให้นานที่สุด แล้วก็ประเมินสถานการณ์แรงกดดันของม็อบไปในตัวด้วย แต่มันจะไม่ช่วยอะไร ในทางตรงข้ามก็จะลดทอนความชอบธรรมของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจลงไปเรื่อย ๆ เช่นเดียวกัน เพราะการประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญดันไปประกาศเองว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้จบใน 3 วาระภายในเดือนธันวาคมนี้ แต่เมื่อคนที่ตั้งมากับมือไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ถามว่ามันต้องรอไปอีกนานเท่าไหร่

มิหนำซ้ำ ยังมีการแบ่งบทกันเล่นของส.ว.ลากตั้ง พวกหนึ่งเข้าชื่อยื่นตีความ อีกพวกก็อ้างว่านั่นเป็นเสียงส่วนน้อยแต่ส.ว.ส่วนใหญ่เห็นด้วยที่จะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำเป็นเหมือนว่าประชาชนกินหญ้า ที่น่าตลกก็คือเมื่อลิ่วล้อที่ยกมือหนุนผู้นำเผด็จการกลับมามีอำนาจอีกรอบเดินเกมกันอย่างนี้ แต่เนติบริกรข้างกายท่านผู้นำอย่าง วิษณุ เครืองาม กลับมองว่าไปทำอย่างนั้นได้อย่างไร ทั้งที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญยังไม่ผ่านที่ประชุมรัฐสภามันหมายความว่าอย่างไร

สิ่งที่วิษณุตั้งข้อสังเกตก็คือ ยังไม่รู้ว่าจะยื่นตีความในประเด็นใด เพราะยังไม่ได้นำเข้าที่ประชุมรัฐสภา ตนจึงนึกไม่ออกว่าจะร้องในประเด็นใด แต่ถ้าสภาพิจารณารับหลักการแล้วยื่นตีความก็สามารถทำได้ แต่กรณีนี้ ยังนึกไม่ออกจริง ๆ ว่าจะไปอย่างไร ถ้าเช่นนั้นก็ต้องไปถามเจ้าของไอเดียว่าใช้ช่องทางหรือข้อกฎหมายตรงไหน ท้ายที่สุดก็ขึ้นอยู่กับศาลรัฐธรรมนูญว่าจะรับเรื่องไว้พิจารณาหรือไม่ ถ้าตีตกทุกอย่างก็ไร้ปัญหา ถ้ารับไว้พิจารณาก็ต้องรอกันยาว ๆ

อย่าลืมว่า ตามวาระการประชุมรัฐสภานั้น ได้มีการบรรจุเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ญัตติเพื่อพิจารณาในวันที่ 17 พฤศจิกายนนี้แล้ว นั่นหมายความว่า จะต้องเลื่อนออกไปกันก่อนใช่หรือไม่ การกระทำเช่นนี้เชื่อได้เลยว่าไม่น่าจะสร้างความสบายใจให้กับ ชวน หลีกภัย เท่ากับว่าสิ่งที่มีการส่งสัญญาณมาจากฝ่ายกุมอำนาจทั้งคณะกรรมการสมานฉันท์และการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น เหมือนการทำให้ประธานรัฐสภากลายเป็นตัวตลก เหมือนถูกใช้ให้เป็นเครื่องมือในการแหกตาประชาชน

โดยเฉพาะประเด็นคณะกรรมการสมานฉันท์นั้น ความขัดแย้งระหว่างชวนกับลิ่วล้อต่างชั้นในพรรคสืบทอดอำนาจ ก็ชัดเจนแล้วว่าไม่ได้มีความตั้งใจและจริงใจในการที่จะให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างแท้จริง เข้าใจได้ว่า ไม่ใช่แค่ผลที่ออกมาหากมีการตั้งคณะกรรมการชุดดังว่าสำเร็จ จะกระทบต่อผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจโดยตรง แต่ยังหมายถึงเป็นการตบหน้าองคาพยพเผด็จการคสช.ทั้งคณะที่ชูการสร้างปรองดองเป็นประเด็นสำคัญในการยึดอำนาจแต่ทำไม่ได้ สุดท้ายกลายเป็นชวนมาชุบมือเปิบไปใครจะยอมรับได้

บอกไว้แล้วว่า ทัศนคติของเผด็จการสืบทอดอำนาจและกองเชียร์สุดโต่งนั้นน่ากลัวเป็นอย่างยิ่ง ไม่เพียงแค่การมองคนเห็นต่างเป็นศัตรูและจะต้องใช้ทุกวิถีทางในการกำจัดเท่านั้น หากแต่กระบวนการคิดเรื่องของการได้มาซึ่งอำนาจก็ถือเป็นศัตรูตัวฉกาจต่อกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยเป็นอย่างยิ่ง เหมือนอย่างการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนที่อ้างว่ารักและปกป้องสถาบันเมื่อวันวานที่ไปยื่นหนังสือถึงท่านผู้นำและผบ.ทบ.เรียกร้องการรัฐประหารและการชัตดาวน์ประเทศ ไม่รู้ว่าใช้สมองส่วนไหนคิด

ดังความเห็นของ รังสิมันต์ โรม ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคก้าวไกล ที่พูดถึงกรณีดังกล่าวนั่นแหละ ที่คงจะตรงใจกับคนส่วนใหญ่ของประเทศ การเสนอให้รัฐประหาร นอกจากเป็นการเสนอที่ผิดกฎหมาย หากเกิดขึ้นจะเป็นการทำลายอำนาจอธิปไตยของประชาชนทั้งหมด การเสนอเช่นนี้ตามรัฐธรรมนูญย่อมไม่สามารถทำได้ ใครก็ตามที่ออกตัวไม่ให้แก้รัฐธรรมนูญ แต่วันนี้กลับเสนอให้ฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งผ่านการยึดอำนาจ ไม่ละอายแก่ใจบ้างหรืออย่างไร “ทุเรศสิ้นดี” นี่แหละอาการของพวกเสพติดอำนาจมืดบอดในโลกแห่งความเป็นจริง ได้ยินและเห็นแต่ข้อมูล คำพูดที่สอพลอเท่านั้น

Back to top button