ครม.เดือด! “คมนาคม” เห็นต่าง “มหาดไทย” ปมขยายสัมปทาน “รถไฟฟ้าสายสีเขียว” ยาว 30 ปี

ครม.เดือด! “คมนาคม” เห็นต่าง “มหาดไทย” ปมขยายสัมปทาน “รถไฟฟ้าสายสีเขียว” ยาว 30 ปี


ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (17 พ.ย.63) โดยมี พลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน กระทรวงมหาดไทยได้มีการเสนอขออนุมัติผลการเจรจาและเห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่จะขยายสัญญาสัมปทานให้กับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส ออกไปอีก 30 ปี

โดยจะมีการขยายระยะเวลาร่วมลงทุนเพิ่มเติมจากเดิมสิ้นสุดปี 2572 เป็นสิ้นสุดปี 2602 แลกกับเก็บค่าโดยสารที่ 65 บาทตลอดสาย และในส่วนภาระค่าใช้จ่ายที่สำคัญและเกี่ยวข้องของโครงการ โดยผู้รับสัมปทานจะเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายในค่าติดตั้งงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล (E&M) สำหรับส่วนต่อขยายที่ 2 ทั้งหมด โดยนับเป็นทุนของโครงการ

นอกจากนี้ ผู้รับสัมปทานจะเป็นผู้รับภาระดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมของหนี้เงินกู้ที่กรุงเทพมหานครมีต่อกระทรวงการคลังไม่เกิน 44,429 ล้านบาท สำหรับช่วงระยะเวลาร่วมลงทุนเดิม โดยนับเป็นทุนของโครงการ แต่ในที่ประชุม ครม.ยังไม่อนุมัติ ให้กระทรวงมหาดไทยไปกลับไปทำรายละเอียดใหม่

ทั้งนี้ จากข้อเสนอในร่างสัญญาดังกล่าว  กรมการขนส่งทางราง (ขร.) หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ได้ตั้งข้อสังเกตควรมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ จึงขอเสนอความเห็นเพิ่มเติมประกอบการพิจารณาว่า จากคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ตาม ม.44 ได้ยกเว้นการหลักการของพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ปี 2562 แต่ไม่ได้ให้ยกเว้นวินัยทางการเงินการคลัง

ขณะเดียวกันทาง กรุงเทพมหานคร (กทม.) และบีทีเอส ไม่สามารถหาและตอบที่มาของการกำหนด อัตราจัดเก็บค่าโดยสารในช่วงการต่อสัญญาสัมปทานที่ราคา 65 บาทตลอดสาย ว่ามีที่มาจัดกำหนดค่าโดยสารอย่างไร และมีการวิเคราะห์โครงการเชิงผลประโยชน์ตอบแทนทางเศรษฐกิจ (ERR) และอัตราผลตอบแทนทางด้านการเงิน (FRR) รวมทั้งแหล่งที่มาของเงินทุน ปริมาณผู้โดยสาร และราคาค่าโดยสารที่เหมาะสมและเป็นธรรมกับประชาชนหรือไม่

ส่วนประเด็นการคิดอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสมเป็นธรรมแก่ประชาชนผู้ใช้บริการ ปรากฏว่าร่างสัญญาร่วมลงทุนโครการรถไฟฟ้าสายสีเขียวมีระยะทาง 15 กม. กำหนดให้มีอัตราค่าโดยสารไม่เกิน 65 บาทตลอดสาย เมื่อมีการเปรียบเทียบกับอัตราค่าโดยสารของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินในปัจจุบันกลับพบว่ามีราคาค่าโดยสารที่สูงกว่า ขณะที่มีระยะทางให้บริการถึง 50 กม.แต่เก็บค่าโดยสารเพียง 42 บาท กระทรวงคมนาคมจึงเห็นว่าการคิดอัตราค่าโดยสารควรที่จะมีความเหมาะสมและเป็นธรรมแก่ประชาชนผู้ใช้บริการและจากการศึกษาพบว่าปัจจุบันผู้มีรายได้น้อยต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางรถไฟฟ้าจำนวน 130 บาทต่อวัน ซึ่งคิดเป็น 35 % ของค่าแรงขั้นต่ำ

ดังนั้น เมื่อมีการเปรียบเทียบราคาค่าโดยสารระหว่างการใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินปัจจุบัน พบว่ามีระยะทาง 50 กม. เก็บค่าโดยสารเพียง 42 บาท ขณะที่รถไฟฟ้าสายสีเขียวมีระยะทาง 15 กม.และสัญญาสัมปทานระหว่างบีทีเอสกับภาครัฐจะหมดลงในอีก 9-10 ปีข้างหน้า จึงไม่มีความจำเป็นที่จะขยายสัญญาสัมปทานให้เอกชนอีก 30 ปี

Back to top button