LPN ประกาศยกระดับดูแลชุมชน ชู 12 มาตรการสู้ “โควิด” ระลอกใหม่

LPN ประกาศยกระดับดูแลชุมชน ชู 12 มาตรการสู้ "โควิด" ระลอกใหม่


นางสาวสมศรี เตชะไกรศรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลุมพินี พรอพเพอร์ตี้ มาเนจเมนท์ จำกัด (LPP) บริษัทบริหารจัดการชุมชนในเครือบริษัท แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ LPN กล่าวว่า หลังจากที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ไปทั่วประเทศ บริษัทได้ประกาศ 12 มาตรการเพื่อยกระดับการดูแลชุมชนภายใต้การบริหารงานของ LPP ที่มีอยู่ทั้งหมดมากกว่า 200 ชุมชน จำนวนผู้อยู่อาศัยประมาณ 300,000 คน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในชุมชน และมีส่วนในการตรวจคัดกรองผู้มีความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 ในชุมชน เป็นส่วนหนึ่งในการลดการแพร่ระบาดของโควิด-19

ทั้งนี้ ได้นำเอาแนวทาง “D-M-H-T-T: Distancing, Mask Wearing , Hand Washing, Testing, Thai Chana” ของกระทรวงสาธารณสุข มาใช้ในการกำหนดมาตรการเพื่อสร้างมาตรฐานความปลอดภัยให้กับสมาชิกในชุมชน โดย 12 มาตรการ ประกอบด้วย

1.การแบ่งทีมงานบริหารจัดการให้ดูแลชุมชนได้ตลอด 24 ชั่วโมงใน 7 วัน ตลอดช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา และต่อเนื่องถึงปัจจุบัน โดยลดความเสี่ยงการติดเชื้อของทีมงาน เพื่อไม่ให้การบริการสะดุด

2.การบริหารจัดการพัสดุ โดยมีการคัดแยก ตรวจสอบ และส่งมอบ เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อในชุมชน

3.การคัดกรองผู้เข้าโครงการอย่างเข้มงวดด้วยการตรวจวัดอุณหภูมิทุกคน จัดทางเข้า-ออก ให้เหลือทางเดียว ขึ้นทะเบียนผู้เข้าพักอาศัยรายใหม่

4.การบริหารพื้นที่ส่วนกลาง โดยควบคุมหรืองดให้บริการในพื้นที่ส่วนกลางที่เป็นจุดเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดการแพร่ระบาด เช่น พื้นที่สันทนาการ สระว่ายน้ำ และควบคุมพื้นที่ในการใช้ลิฟต์โดยสาร รวมถึงการเพิ่มจุดที่นั่งเพื่อเว้นระยะห่าง และการทำความสะอาดพื้นที่ส่วนกลางทุก 1 ชั่วโมง เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของเชื้อในชุมชน

5.การลดการสัมผัสในการชำระค่าใช้จ่ายต่างๆ โดยการเปิด application LPN Bill Payment เพื่อลดความเสี่ยงในการรับเงินสด ซึ่งทั้งธนบัตรและเหรียญอาจเป็นที่แพร่เชื้อ

6.การรับ-ส่งอาหารและสิ่งของ มีการจัดเตรียมพื้นที่สำหรับรับ-ส่งอาหารในพื้นที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวกและเว้นระยะห่างระหว่างผู้ส่งอาหารและผู้พักอาศัย เตรียมน้ำยาทำความสะอาดไว้บริการ

7.การคัดแยกขยะปนเปื้อน โดยเพิ่มถังขยะติดเชื้อ เพื่อใช้สำหรับการทิ้งขยะปนเปื้อน อาทิ หน้ากากอนามัย และมีการฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อขยะติดเชื้อ ก่อนนำไปทิ้งที่ถังรอพักขยะส่วนกลาง เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ

8.การเว้นระยะห่าง (Social Distancing) จัดพื้นที่การให้บริการในสำนักงานนิติบุคคลโดยเว้นระยะห่างไม่น้อยกว่า 1 เมตร และทุกพื้นที่ในชุมชน ให้การบริหารจัดการปลอดภัยต่อผู้พักอาศัย

9.มาตรการด้านความสะอาดและความปลอดภัย เน้นการทำความสะอาดลิฟท์โดยสารและจุดสัมผัสต่าง ๆ ทุก 1 ชั่วโมง ทำความสะอาดโต๊ะเก้าอี้ในพื้นที่ส่วนกลาง ทุก 2 ชั่วโมง ทำความสะอาดคีย์การ์ด บัตรผู้เข้ามาในโครงการ (Visitor) และบัตรวางหน้ารถทุกครั้งที่มีการใช้งาน และเจ้าหน้าที่ทุกคนต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดระยะเวลาการปฏิบัติงาน

10.การฉีดพ่นเพื่อกำจัดเชื้อไวรัส โดยจัดให้มีการฉีดพ่นและเช็ดถูด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อในพื้นที่ส่วนกลาง และกรณีที่พบผู้พักอาศัยติดเชื้อจะมีการจัดการฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อในห้องชุดที่ผู้ติดเชื้อพักอาศัย และบริเวณโดยรอบ

11.การบริหารการสื่อสารภายในชุมชน มีการประชาสัมพันธ์และรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดผ่านแอปพลิเคชันไลน์ LPN Connect ให้เจ้าของร่วมได้รับทราบความเคลื่อนไหวและสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งภาพรวมและภายในชุมชน

12.การกำหนดระเบียบและการปฏิบัติตัวของพนักงานผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดอย่างเข้มงวดทั้งเรื่องการสวมหน้ากากอนามัย การตรวจวัดอุณหภูมิ และการดูแลพื้นที่ส่วนกลางอย่างเข้มงวดเพื่อลดการแพร่ระบาดในพื้นที่ของชุมชน รวมถึงการจัดให้มีระเบียบ ข้อปฏิบัติเพิ่มเติมตามสถานการณ์อย่างเหมาะสมทันเวลา

โดย LPP ได้ออกแบบการบริหารในสถานการณ์ฉุกเฉินโดยมีระบบสั่งการแบบ Call Tree เพื่อให้การสั่งการเป็นไปอย่างรวดเร็ว และมี “ทีมฉุกเฉิน” เป็นทีมที่เข้าไปบริหารจัดการพื้นที่กรณีที่ผู้จัดการนิติบุคคลแจ้งมายังทีมบริหารว่า พบผู้ติดเชื้อในชุมชนทันทีที่ได้รับแจ้ง “ทีมฉุกเฉิน” จะดำเนินการควบคุมจัดการพื้นที่เสี่ยงในโครงการตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อในพื้นที่ เข้มงวดในการตรวจสอบผู้ที่เข้าในอาคารทุกคน และกำหนดแนวปฏิบัติของแต่ละชุมชนตามผลการตรวจสอบเส้นทาง (Time Line) ที่ผู้ติดเชื้อเดินทางในชุมชนตลอด 7-14 วัน ด้วยการตรวจสอบผ่านทาง CCTV และแจ้งเจ้าของร่วมรับทราบถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในโครงการ ซึ่งแผนดังกล่าวจะมีการปรับเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ทั้งในชุมชนและตามที่หน่วยงานต่างๆ จะมีประกาศหรือมีคำสั่งออกมาในอนาคต

“ถึงแม้การระบาดในรอบนี้จะกระจายไปในวงกว้าง แต่จากประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้เราเรียนรู้และออกมาตรการเพื่อสร้างความมั่นใจและความอุ่นใจให้กับชุมชนและเจ้าของร่วมที่เราดูแลอยู่ เพื่อให้ทุกกิจกรรมการใช้ชีวิตในชุมชนที่เราดูแลเป็นเรื่องง่ายและปลอดภัย เราต้องยอมรับว่าอาจพบผู้ปวยในโครงการของเราที่เกิดจากการเดินทางไปทำงานหรือการเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยงที่มีการแพร่ระบาดของสมาชิกในชุมชน แต่ทุกมาตรการที่เราออกมาทั้ง 12 มาตรการ จะทำให้เราสามารถดูแลให้ทุกชุมชนของเราไม่ใช่พื้นที่ที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาด (Super Spreader) ของการแพร่เชื้อดังกล่าว และจะทำให้ทุกคนยังสามารถใช้ชีวิตได้เกือบปกติอย่างปลอดภัยภายใต้สถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะชุมชนที่เราดูแลและมี DNA ของความ “ร่วมใจ ห่วงใย แบ่งปัน” เป็นพื้นฐานที่ชัดเจน” นางสาวสมศรี กล่าว

 

 

Back to top button