โควิดรอบใหม่ ฉุดดัชนีเชื่อมั่นหอการค้า ธ.ค. หดเหลือ 31.8 หนี้ครัวเรือนพุ่งสูงสุดรอบ 12 ปี

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย เผยโควิดรอบใหม่ ฉุดดัชนีเชื่อมั่นหอการค้า ธ.ค. หดเหลือ 31.8 หนี้ครัวเรือนพุ่งสูงสุดรอบ 12 ปี


นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยถึงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยประจำเดือนธันวาคม 2563 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นลดลงจากระดับ 33.7 มาอยู่ที่ 31.8 ปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 6 เดือนนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 หลังจากมีการระบาดของโควิด-19 รอบใหม่

ส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะการยกเลิกการจัดงานปีใหม่ งานรื่นเริง รวมถึงความไม่แน่นอนในเรื่องของการใช้มาตรการล็อกดาวน์พื้นที่ต่าง ๆ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก ประกอบกับประชาชนไม่สามารถเดินทางท่องเที่ยวและใช้บริการร้านอาหาร รวมถึงโรงแรมต่าง ๆ ได้

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการขอให้รัฐบาลใช้มาตรการทางการเงิน ด้วยการลดอัตราดอกเบี้ย ชะลอการจ่ายภาษี ช่วยพยุงการจ้างงาน รวมถึงจะต้องควบคุมการระบาดของโควิด-19 ให้ได้โดยเร็ว เร่งสร้างความเชื่อมั่นในการลงทุนและใช้งบประมาณของรัฐบาลในการอัดฉีดเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจ เพื่อเป็นการประคองไม่ให้เกิดการทรุดต่ำลง และจากการระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ ซึ่งมีการขยายวงของผู้ติดเชื้อไปในหลายจังหวัด ส่งผลทำให้ผู้ประกอบการในแต่ละพื้นที่ได้รับผลกระทบจากการระบาด ทำให้ไม่สามารถประกอบกิจการ รวมถึงการลงทุนและการบริโภคทรุดตัวลง และขอให้รัฐบาลดูแลค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น

“ห่วงภาวะเศรษฐกิจของประเทศ โดยหลังจากนี้ 3 เดือน หากการดูแลควบคุมการระบาดของโควิด-19 ไม่เห็นผลเป็นรูปธรรม จะยิ่งมีผลต่อการจ้างงานหรือการปลดคนงาน โดยขณะนี้อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 2 หากมีตัวเลขการว่างงานเพิ่มมากขึ้น จะส่งผลกระทบทำให้ภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ส่วนภูมิภาคได้รับผลกระทบอย่างหนัก เพราะเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัวเช่นกัน ทำให้ภาคอุตสาหกรรมยังไม่สามารถลงทุนได้อย่างเต็มที่”

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศในปีนี้อาจขยายตัวได้เพียงร้อยละ 2.2 จากเดิมที่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวร้อยละ 2.8 เนื่องจากมีหลายปัจจัยจากการแพร่ระบาดโควิดที่ยังไม่สามารถควบคุมได้

ขณะเดียวกัน หอการค้าได้สำรวจสถานภาพหนี้ครัวเรือนปี 2563 และแนวโน้ม โดยระบุว่า จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างกว่า 1 พันราย พบว่าจำนวนหนี้เฉลี่ยของครัวเรือนและการผ่อนชำระในปี 2563 พบว่า สูงถึง 483,950.84 บาทต่อครัวเรือน ซึ่งขยายตัวสูงถึง 42.3%

โดยปัจจัยที่ทำให้ก่อหนี้เพิ่มขึ้น เนื่องจากค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น ขาดรายได้เนื่องจากถูกออกจากงาน และรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย ซึ่งหอการค้าไทยประเมินการสำรวจกลุ่มตัวอย่างดังกล่าว พบว่ายังเป็นการก่อหนี้ใหม่สูงมากกว่า 70% เป็นผลมาจากการเกิดโรคโควิด -19 เศรษฐกิจไม่ดี และมีหนี้สินเยอะขึ้น

สำหรับปัจจัยที่ทำให้มีโอกาสเกิดปัญหาชำระหนี้ กลุ่มตัวอย่างมีความเห็นว่าจะมาจากปัญหาเศรษฐกิจไม่ดี สูงถึง 72.1% รองลงมาคือ ค่าครองชีพไม่สอดคล้องกับรายได้ 59.4% รายได้ที่รับลดลง 54.8% และการแพร่ระบาดโรคโควิด -19 สูงถึง 55%

อย่างไรก็ดี การก่อหนี้ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนั้น แม้ว่าส่วนใหญ่กว่า 70% จะเป็นหนี้ก้อนใหม่และรวมทั้งหนี้ก้อนเก่าและก้อนใหม่ แต่ยังพบว่าหนี้ส่วนใหญ่ยังเป็นหนี้ในระบบ มีสัดส่วนอยู่ที่ 75.3% ขณะที่หนี้นอกระบบ มีสัดส่วนอยู่ที่ 24.7% จึงเชื่อว่าสามารถควบคุมได้

“ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น โดยหนี้ครัวเรือนที่มีอยู่ 4.8 แสนบาทต่อครัวเรือนนั้น ถือว่าสูงที่สุดในรอบ 12 ปี นับจากปี 2552 และยังขยายตัวสูงถึง 42% ซึ่งในปีอื่นไม่เคยสูงเช่นนี้มาก่อน เชื่อว่ารัฐจะสามารถคุมได้ เนื่องจากหนี้ส่วนใหญ่ยังเป็นหนี้ในระบบ”

Back to top button