KTC ลุ้นกำไรปีนี้ “นิวไฮ” รับแรงหนุน “บัตรเครดิต-สินเชื่อบุคคล” ลุยเช่าซื้อรถ

KTC ลุ้นกำไรปีนี้ “นิวไฮ” โต 5.33 พันลบ. รับแรงขับเคลื่อนยอดใช้จ่าย  “บัตรเครดิต- สินเชื่อบุคคล” ลุยเช่าซื้อรถหนุน


นายระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC กล่าวว่า บริษัทฯ คาดกำไรสุทธิปี 2564 จะทำสถิติสูงสุดใหม่ (นิวไฮ) จากปีก่อนที่มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 5,332.87 ล้านบาท ผ่านการดำเนินธุรกิจหลัก คือ ธุรกิจบัตรเครดิตและธุรกิจสินเชื่อบุคคล

ทั้งนี้ธุรกิจบัตรเครดิต บริษัทฯ ตั้งเป้ามียอดใช้จ่ายผ่านบัตรในปี 2564 เติบโต 8% หรือประมาณ 210,000 ล้านบาท จากปีก่อนลดลง -7.7% โดยในเดือนม.ค.ที่ผ่านมา แม้ยังเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่ ทำให้ไม่สามารถกลับไปเท่ากลับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ได้ แต่การติดลบก็ปรับตัวดีขึ้นมาที่อยู่ที่ -1% จากการซื้อของผ่านออนไลน์

อย่างไรก็ตามในเดือนมี.ค.2564 เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีขึ้น ก็คาดหวังว่าในเดือนถัดๆ ไปจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น และสามารถกลับไปใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด-19 ได้ ซึ่งบริษัทฯ จะยังใช้คะแนน KTC FOREVER ขับเคลื่อนกิจกรรมการตลาด เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการใช้จ่ายผ่านบัตร อีกทั้งรักษาและขยายความแข็งแรงของเครือข่ายพันธมิตรคู่ค้า เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านบัตร และสนับสนุนการเติบโตของพันธมิตรด้วยผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ ของเคทีซี เน้นส่งเสริมการตลาดในลักษณะออนไลน์มากขึ้น ตอบโจทย์พฤติกรรมการใช้บัตรของผู้บริโภคปัจจุบัน ที่เปลี่ยนจากใช้เงินสดมาจ่ายผ่านบัตรเครดิต รวมถึงสร้างคอนเทนท์ที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีผ่านช่องทางสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ

ทางด้านธุรกิจสินเชื่อบุคคล ตั้งเป้ารักษายอดลูกหนี้สินเชื่อบุคคลในปี 2564 ให้ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา โดยในปี 2563 มียอดลูกหนี้สินเชื่อบุคคลรวม 29,915 ล้านบาท จากการใช้กลยุทธ์การตลาดสร้างความผูกพันกับฐานสมาชิกเดิม วางตัวเป็นบัตรกดเงินสดใบแรกที่ลูกค้านึกถึงเมื่อจำเป็นต้องใช้เงิน โดยออกแคมเปญแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายและส่งเสริมให้สมาชิกมีวินัยการชำระเงิน อีกทั้งพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการรองรับพฤติกรรมผู้บริโภคที่ใช้บริการทางออนไลน์มากขึ้น ด้วยจุดเด่น “รูด โอน กด ผ่อน” ภายในบัตรเดียว กับบริการเบิกเงินสดออนไลน์ผ่านแอปฯ “KTC Mobile” 24 ชั่วโมงแบบเรียลไทม์เข้าบัญชีธนาคารได้ถึง 13 ธนาคาร และบริการเพิ่มวงเงินฉุกเฉินหรือขอรหัสเบิกถอนเงินสดที่ทำรายการได้เองตลอด 24 ชั่วโมง

สำหรับกลยุทธ์การขยายฐานสมาชิกบัตรเครดิตและบัตรกดเงินสด “เคทีซี พราว” จะให้ความสำคัญกับการคัดกรองผู้สมัครมากขึ้น เพื่อให้ได้กลุ่มลูกค้าคุณภาพที่ต้องการสินเชื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและมีวินัยทางการเงิน ลดความเสี่ยงจากสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันและอัตราหนี้ครัวเรือนที่ยังสูง ผ่าน 4 ช่องทางหลักคือ ธนาคารกรุงไทย (KTB) ผู้แนะนำผลิตภัณฑ์ทางการเงินเคทีซี (อิสระ) ทั่วประเทศ เคทีซี ทัช ทุกสาขา และเจ้าหน้าที่ฝ่ายขายทางโทรศัพท์ (Telesales) โดยในปี 64 ตั้งเป้าหมายจำนวนสมาชิกใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา คือ บัตรเครดิต 235,000 ใบ และสมาชิกบัตรกดเงินสดเคทีซี พราว 135,000 ราย

ส่วนของการขยายฐานร้านค้ารับบัตรเคทีซี จะเน้นช่องทางออนไลน์มากขึ้น ผ่านความร่วมมือกับพันธมิตร ทั้งธนาคารกรุงไทยและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อเข้าถึงร้านค้าขนาดกลาง ร้านค้าขนาดเล็กและร้านค้าออนไลน์ รองรับการทำธุรกรรมอี-คอมเมิร์ซ และโซเชียล คอมเมิร์ซ รวมถึงเพิ่มช่องทางรับชำระค่าสินค้าและบริการผ่าน Link Pay และสแกน QR Code ที่ลูกค้าสามารถทำรายการธุรกรรมได้ง่ายด้วยตนเอง รวดเร็วและสะดวกทุกที่ทุกเวลา

ทั้งนี้บริษัทฯ ตั้งเป้ารักษาระดับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ปีนี้ให้ใกล้เคียงกับปีก่อน จากการคัดกรองผู้สมัครมากขึ้น ส่งผลทำให้ปีนี้จะมีการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญลดลง เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีการตั้งสำรองฯ ไว้ค่อนข้างสูง ขณะเดียวกันยังคงทยอยตัดหนี้สูญ (write-off) อย่างต่อเนื่อง วางเป้าหมายไว้ที่ 1,300 ล้านบาท/ไตรมาส

ส่วนในปีที่แล้วจะเห็นได้ว่าผลการดำเนินงานของเราในไตรมาส 2/2563 ค่อนข้างจะหนักมาก เพราะตั้งสำรองเต็มๆ และในไตรมาส 3/2563 เรา write-off ก้อนใหญ่มาก ประมาณ 3,000 ล้านบาท แต่คิดว่านั้นคือสิ่งที่เราควรทำ และเป็นการตัดสินใจที่ถูก เพราะพอสิ้นปีแล้วแม้ผลการดำเนินงานจะไม่ได้สูงกว่าปีก่อน หรือมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 5,300 กว่าล้านบาท แต่เป็นตัวเลขที่เราพอใจ เมื่อเทียบกับภาวะเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น และเราก็มั่นใจว่าปีนี้จะสามารถทำกำไรสุทธินิวไฮได้ “นายระเฑียร กล่าว

นอกจากนี้ นายระเฑียร กล่าวว่า ด้านธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ เคทีซี พี่เบิ้ม ปีนี้วางเป้ายอดสินเชื่อไว้ประมาณ 1,000 ล้านบาท โดยจะมุ่งขยายตลาดผ่านระบบออนไลน์ มีทีมงาน “พี่เบิ้ม Delivery” ติดต่อประสานงานกับลูกค้าเป้าหมายโดยตรง และขยายพื้นที่ให้บริการไปยังต่างจังหวัดมากขึ้น เริ่มต้นที่ภาคตะวันออก ภาคเหนือตอนบนและภาคใต้ตอนบน อีกทั้งร่วมมือกับพันธมิตรธุรกิจ และธนาคารกรุงไทย ขยายฐานสมาชิกและออกผลิตภัณฑ์สินเชื่อใหม่ ตลอดจนร่วมมือกับเคทีบี ลีสซิ่ง เพื่อหาโอกาสต่อยอดและสนับสนุนธุรกิจสินเชื่อทะเบียนรถร่วมกัน เพื่อให้ครอบคลุมความต้องการกลุ่มเป้าหมาย

ขณะที่ นายชุติเดช ชยุติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน เคทีซี กล่าวว่า ล่าสุด บริษัทฯ ได้เข้าถือหุ้นในบริษัท กรุงไทยธุรกิจลีสซิ่ง จำกัด (เคทีบี ลีสซิ่ง) ดำเนินธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ในเครือธนาคารกรุงไทย ในสัดส่วน 75.05% ซึ่งจะทำให้เคทีซีสามารถทำธุรกิจเช่าซื้อและลีสซิ่งทุกประเภท ต่อยอดธุรกิจสินเชื่อมีหลักประกันได้อย่างครบวงจร และยังได้ใช้ประโยชน์จากสาขาและฐานลูกค้าที่มีอยู่เดิม โดยบริษัทฯ จะเข้าไปศึกษาระบบในเคทีบี ลีสซิ่ง และคาดว่าจะเริ่มออกแบบโมเดลธุรกิจได้หลังจากผ่านการประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่ 8 เม.ย.นี้ ซึ่งเบื้องต้นหากผู้ถือหุ้นอนุมัติ ก็จะต้องรอทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อนุมัติขอบเขต จากนั้นก็จะเข้าสู่กระบวนการโอนหุ้น คาดว่าจะแล้วเสร็จได้ในสิ้นเดือนเม.ย.64

“โดยยังไม่สามารถตอบได้ว่าการดำเนินธุรกิจดังกล่าวจะเป็นอย่างไร ซึ่งยังต้องรอความชัดเจนจากการประชุมผู้ถือหุ้นก่อน แต่เป้าหมายการทำกำไรนิวไฮของเคทีซีในปีนี้ ยังไม่ได้นับรวมกับธุรกิจลีสซิ่งเข้าไป” นายชุติเดช กล่าว

พร้อมกันนี้บริษัทฯ ยังมีแผนออกหุ้นกู้ระยะสั้น และระยะยาว (ในช่วงอายุที่สั้นลงจากเดิม หรือไม่เกิน 5 ปี) ในวงเงินไม่เกิน 12,000 ล้านบาท โดยในช่วงต้นปีที่ผ่านมามีการออกหุ้นกู้ไปแล้วจำนวน 3,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยที่ 1.4% อายุ 3 ปี ซึ่งเป็น Zero Coupon Bond เพื่อรองรับการขยายตัวของสินเชื่อ ส่วนที่เหลืออีก 9,000 ล้านบาท จะออกเพื่อทดแทนหุ้นกู้เดิมที่จะทยอยครบกำหนดอายุ

Back to top button