“กลุ่มเจมาร์ท” ราคาขึ้นยกแผง เก็งแผนธุรกิจเด่น ลุ้นผลงานปี 64 โตทะลัก

“กลุ่มเจมาร์ท” ราคาขึ้นยกแผง เก็งแผนธุรกิจเด่น ลุ้นผลงานปี 64 โตทะลัก


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ณ เวลา 10.37 น. ราคาหุ้น บริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ JMART อยู่ที่ระดับ 43.50 บาท บวก 4.25 บาท หรือ 10.83% สูงสุดที่ระดับ 43.75 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 40 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 1.25 พันล้านบาท

ด้านราคาหุ้น บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SINGER อยู่ที่ระดับ 41.25 บาท บวก 3.50 บาท หรือ 9.27% สูงสุดที่ 41.25 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 38.25 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 248.65 ล้านบาท

เช่นเดียวกับ ราคาหุ้น บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) หรือ JMT อยู่ที่ระดับ 46.50 บาท บวก 0.50 บาท หรือ 1.09% สูงสุดที่ระดับ 47 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 45.75 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 472.79 ล้านบาท

ขณะเดียวกันราคาหุ้น บริษัท เจเอเอส แอสเซ็ท จำกัด (มหาชน) หรือ J  อยู่ที่ระดับ 3.44 บาท บวก 0.06 บาท หรือ 1.78% สูงสุดที่ระดับ 3.44 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 3.38 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 10.41 ล้านบาท

ทั้งนี้ ราคาหุ้นกลุ่มเจมาร์ทปรับตัวขึ้นต่อ คาดว่าเป็นการเข้ามาเก็งกำไรจากแผนการดำเนินงานปี 2564 จะออกมาเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดย นายอดิศักดิ์ สุขุมวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร JMART เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้ากำไรในปี 64-68 จะสามารถเติบโตไม่ต่ำกว่า 50% ต่อปี โดยมาจากทุกธุรกิจของบริษัทที่จะมีการเติบโตและสร้างผลประโยชน์ร่วมกันในกลุ่ม ขณะที่ช่วงที่ผ่านมาบริษัทยังได้ร่วมลงทุนกับพันธมิตรรายใหม่ทั้ง เคบี คุกมินการ์ด บริษัทผู้ให้บริการบัตรเครดิตเบอร์ต้นจากเกาหลีใต้ และ TIS Inc จากญี่ปุ่น ที่จะช่วยเข้ามาหนุนทั้งด้านเงินทุน และเทคโนโลยีจากบริษัทร่วมทุน

สำหรับปีนี้บริษัทวางงบลงทุนของกลุ่มไว้ราว 14,600 ล้านบาท เพื่อให้มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทเตรียมสรุปการเจรจาร่วมลงทุนในธุรกิจโลจิสติกส์ในไตรมาส 3/64 นี้ เพื่อต่อยอดธุรกิจให้บริการทั้งด้านค้าปลีกของกลุ่มทั้งหมด เช่น หน้าร้านของเจมาร์ท กว่า 200 สาขา สาขาของ SINGER กว่า 7,000 สาขา และสาขาของ IT Junction และ บมจ.เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส (JMT) ซึ่งการเข้าลงทุนในพันธมิตรที่มีโครงข่ายระบบโลจิสติกส์จะเข้ามาเชื่อมโยงจุดต่างๆ ของสาขา และการรับส่งสินค้าภายในกลุ่มจะทำให้ง่ายขึ้นด้วยปลายนิ้วสัมผัสของลูกค้า ซึ่งคาดว่าจะใช้เงินลงทุนไม่มากนักสำหรับกลุ่ม JMART

นอกจากนี้ บริษัทยังเตรียมสรุปแผนการขยายธุรกิจไปยังธุรกิจนายหน้าประกันภัย และธุรกิจการเงิน ภายในช่วงไตรมาส 4/64 จากจุดแข็งของบริษัทที่มีฐานขอมูลของลูกค้าในมือมากถึง 6.7 ล้านราย และกลุ่ม JMART มีธุรกิจประกันภัยอยู่แล้ว ได้แก่ บริษัท เจพี ประกันภัย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเสริมแกร่งด้วยเทคโนโลยีจาก บริษัท เจเวนเจอร์ส จำกัด และ TIS Inc. ที่จะผลักดันให้กลุ่มเจมาร์ทรุก InsurTech ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

โดยทั้ง 2 ธุรกิจใหม่จะช่วยเสริมศักยภาพการจำหน่ายสินค้าของบริษัท ทั้งการจำหน่ายโทรศัพท์มือถือ เครื่องใช้ไฟฟ้า และอื่นๆ ที่จะมีสินเชื่อส่วนบุคคลเข้ามาหนุนการจำหน่ายสินค้าเพิ่มเติม ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีระบบเทคโนโลยีด้านต่างๆ เข้ามาช่วยให้ระบบการเงินที่เป็นออนไลน์ ให้บริการลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว รองรับการปฏิวัติของเทคโนโลยี (Disruption) ของธุรกิจค้าปลีก และการเงิน และยุคของ Social Distancing ซึ่งจะเชื่อมโยงจากระบบ Online to Offline อย่างมีประสิทธิภาพ และเข้าถึงผู้บริโภค

ส่วน SINGER ปีนี้ยังคงเดินหน้าที่จะปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้น โดยตั้งเป้าที่จะมีพอร์ตสินเชื่อมากกว่า 10,000 ล้านบาท จากปีก่อนที่ 6,604 ล้านบาท โดยเน้นการขยายไปยังกลุ่มลูกค้าเกษตรกร และกลุ่มลูกค้าในระบบโลจิสติกส์ ที่จะไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากภาพรวมของเศรษฐกิจมากนัก

นอกจากนี้บริษัทคาดว่านี้หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ปีนี้จะไม่เกิน 4% จาก ณ ช่วงสิ้นปีก่อนอยู่ที่ระดับ 4.4% โดยบริษัทมีการพัฒนาระบบการปล่อยสินเชื่อ การควบคุมคุณภาพหนี้ และพัฒนากระบวนการการเก็บหนี้ที่มีประสิทธภาพมากยิ่งขึ้นด้วย

ด้าน J จะมีโครงการศูนย์การค้าแห่งใหม่ “JAS GREEN VILLAGE-KUBON” เปิดตัวในไตรมาส 4/64 นี้ พร้อมรุกธุรกิจด้าน Senior Living และการขยายธุรกิจเพื่อเชื่อมโยง NPA Ecosystem ของ JMT ซึ่งเป็นโครงการ Synergy ร่วมกันของบริษัทในกลุ่ม ที่สามารถสร้างกระแสรายได้จากการอสังหาริมทรัพย์อีกมาก

ขณะเดียวกัน นายสุทธิรักษ์ ตรัยชิรอาภรณ์ ประธาน เจ้าหน้าที่บริหาร JMT เปิดเผยว่า บริษัทวางงบลงทุนในการเข้าซื้อหนี้เข้ามาบริหารในปี 64 ไว้ที่ 6,000-10,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ใช้เงินลงทุนในการเข้าซื้อหนี้ไป 3 พันล้านบาท โดยที่บริษัทมองว่าในช่วงครึ่งปีหลังสถาบันการเงินจะนำหนี้เสีย (NPL) ออกมาเปิดประมูลมากขึ้น เนื่องจากแนวโน้มของหนี้เสียในระบบยังจะเพิ่มขึ้นหลังจากเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 รอบใหม่ และภาวะเศรษฐกิจยังคงชะลอตัวต่อเนื่อง ส่งผลไห้ความสามารถในการชำระหนี้ลดลง

อีกทั้งยังต้องติดตามสถานการณ์ของลูกหนี้ในกลุ่มที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้หลังจากเกิดโควิด-19 รอบใหม่ว่าหลังจากสิ้นสุดมาตรการในช่วงกลางปีนี้จะกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติมากน้อยเพียงใด ทั้งนี้ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการเจรจาและรอเซ็นสัญญาในการเข้าซื้อหนี้จากสถาบันการเงิน 3-4 ราย คาดว่าจะได้ข้อสรุปในช่วงไตรมาส 1/64 อย่างน้อย 1 ราย

ส่วนธุรกิจประกันภัยของ JMT นั้นอาจมีการเติบโตที่เพิ่มขึ้นไม่มากนักในปี 64  เนื่องจากบริษัทหันมามุ่งเน้นการสร้างยอดขายอย่างมีคุณภาพมากกว่าการเพิ่มปริมาณ เพื่อทำให้กำไรของธุรกิจประกันภัยดีขึ้นกว่าปีก่อน ซึ่งจะช่วยหนุนภาพรวมของธุรกิจ JMT แม้ว่าธุรกิจประกันภัยจะมีสัดส่วนรายได้เพียง 8% ของรายได้รวม

นอกจากนี้ ปัจจัยที่หนุนกำไรของบริษัทในปีนี้จะเติบโตก้าวกระโดดได้นั้นมาจากการรับรู้รายได้จากพอร์ตหนี้ที่มีการชำระเสร็จสิ้น (Fully Amortized) ที่จะมีการรับรู้รายได้จากการจัดเก็บหนี้ที่การชำระเสร็จสิ้นเพิ่มมาอีก 7,000-10,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นพอร์ตหนี้ที่บริษัทไม่มีต้นทุนในการบริหารจัดการ และได้มาร์จิ้นที่ดี ช่วยหนุนกำไรของบริษัทให้เติบโตอย่างก้าวกระโดดได้

Back to top button