“หุ้นเหล็ก” รุ่งหรือร่วง? ตู่ สั่งคุมราคา! ร้อน “ผู้ค้า” ให้สมาคมฯ ยื่น 5 ข้อสางปัญหา

"หุ้นเหล็ก" รุ่งหรือร่วง? ตู่ สั่งคุมราคา! ร้อน "ผู้ค้า" ให้สมาคมฯ ยื่น 5 ข้อสางปัญหา


สัปดาห์นี้จะเห็นว่าประเด็นเหล็กกลายเป็นประเด็นร้อนสำหรับนักลงทุนในตลาดหุ้นไทย และผู้ประกอบการธุรกิจเหล็กเป็นอย่างมาก หลังพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวง (รมว.) กลาโหม ออกมาสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงพาณิชย์ เข้าไปดูแลปัญหาราคาเหล็กที่เพิ่มขึ้นมากในช่วงนี้ ซึ่งจะกระทบต่อต้นทุนของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ในวันเดียว (27 เม.ย.2564) เมื่อประเด็นนายกฯสั่งคุมราคาหล็กได้มีการเผยแพร่ออกไป ก็ได้สร้างความวิตกกังวลต่อนักลงทุนในตลาดหุ้นที่ถือหุ้นกลุ่มเหล็กไม่ใช่น้อย จนทำให้ต่างพากันเทขายหุ้นออกมาอย่างหนัก ทำให้ราคาหุ้นกลุ่มเหล็กปิดตลาด ณ วันที่ 27 เม.ย.2564 ติดลบกันถ้วนหน้า นำโดย MILL ปิดตลาดที่ 1.86 บาท ลดลง 0.30 บาท หรือปรับลดลง 13.89% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 1,046.28 ล้านบาท, CITY ปิดตลาดที่ 2.80 บาท ลดลง 0.38 บาท หรือปรับลดลง 11.95% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 29.89 ล้านบาท,

AMC ปิดตลาดที่ 3.68 บาท ลดลง 0.38 บาท หรือปรับลดลง 9.36% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 56.14 ล้านบาท, PERM ปิดตลาดที่ 3.36 บาท ลดลง 0.30 บาท หรือปรับลดลง 8.20% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 192.56 ล้านบาท, TGPRO ปิดตลาดที่ 0.37 บาท ลดลง 0.03 บาท หรือปรับลดลง 7.50% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 606.15 ล้านบาท และ TMT ปิดตลาดที่ 12.30 บาท ลดลง 0.10 บาท หรือปรับลดลง 0.81% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 392.63 ล้านบาท เป็นต้น

ไม่เพียงนักลงทุนที่เล่นหุ้นเหล็กที่กังวลหนัก!! ต้องเทขายหุ้นเพื่อลดความเสี่ยงออกมา  ด้านผู้ประกอบการธุรกิจเหล็กก็นั่งไม่ติดเก้าอี้เช่นกัน ทำให้ต้องร้อนถึง “นายกสมาคมอุตสาหกรรมเหล็กไทย” ต้องเตรียมร่อนหนังสือถึงภาครัฐ เพื่อให้หยุดแทรกแซงกลไกตลาดโลก

กระทั้งวันที่ 28 เม.ย.2564  นายทวีศักดิ์ ตั้งเด่นชัย นายกสมาคมอุตสาหกรรมเหล็กไทย เปิดเผยว่า จากกรณีที่ภาครัฐจะมีมาตรการแก้ไขปัญหาราคาเหล็กในประเทศที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งมีผลกระทบต่อผู้ประกอบการนั้น กลุ่มผู้ประกอบการเหล็กในประเทศไทยได้มีการหารือกันแล้ว และเตรียมที่จะยื่นหนังสือให้กับทางภาครัฐเพื่อรับทราบถึงประเด็นที่ราคาเหล็กในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจัยที่ทำให้ราคาเหล็กในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากต้นทุนสินแร่เหล็กที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น จึงมีผลกระทบทำให้ราคาเหล็กในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นตามในลักษณะเช่นเดียวกัน

ล่าสุดเมื่อวันที่ 30 เม.ย.2564 นายพลัฏฐ์ ศิริกุลพิสุทธิ์ อุปนายกสมาคมโลหะไทย เข้าประชุมร่วมกับกลุ่ม 7 สมาคมเหล็กฯ โดยได้เสนอ 5 แนวทางในการดำเนินการแก้ปัญหาสินค้าเหล็กราคาสูง ดังนี้

1.การสร้างความร่วมมือในห่วงโซ่อุปทาน โดยผู้ใช้เหล็กวางแผนการใช้เหล็ก แจ้งผู้ผลิตเหล็กให้ทราบล่วงหน้า เพื่อสามารถจัดซื้อวัตถุดิบและวางแผนการผลิตได้ทันเวลา และสามารถทราบถึงต้นทุนที่แน่นอนก่อนรับงานโครงการต่างๆได้

2.กลุ่มผู้ผลิตในประเทศจะรายงานข้อมูลการผลิต และราคาต่อสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อแสดงให้เห็นถึงข้อมูลความเคลื่อนไหวของอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศ

3.สนับสนุนให้ภาครัฐพิจารณาปรับค่าตัวเลขดัชนีที่ใช้วัดการเปลี่ยนแปลงของค่างาน (ค่า K) ของงานโครงการภาครัฐ เพื่อให้สามารถครอบคลุม และหรือเยียวยาผลกระทบจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นของผู้รับเหมาโครงการ

4.ขอให้ภาครัฐสนับสนุนการให้เกิดการใช้วัตถุดิบในการผลิตสินค้าเหล็กในประเทศ โดยเฉพาะสินค้าเศษเหล็ก ที่ปัจจุบันมีปริมาณไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศ ส่งผลให้เกิดการนำเข้าจากต่างประเทศ และมีราคาที่สูงกว่าในประเทศเนื่องจากต้องเสียค่าขนส่งระหว่างประเทศด้วย โดยเฉพาะช่วงนี้ที่ค่าขนส่งปรับเพิ่มสูงขึ้นจากปัญหาตู้บรรจุสินค้า (Container) ขาดแคลน และราคาน้ำมันที่สูงขึ้น

5.เร่งนำเสนอ และผลักดันนโยบายอุตสาหกรรมเหล็ก 4.0 ร่วมกับสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทยผ่านกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนในอุตสาหกรรมเหล็ก และตอบสนองต่อนโยบาย BCG Economy หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ของกระทรวงอุตสาหกรรม และรัฐบาล

ด้านนายพงศ์เทพ เทพบางจาก กรรมการสมาคมผู้ผลิตเหล็กทรงยาวด้วยเตาอาร์คไฟฟ้า กล่าวว่า กลุ่มผู้ผลิตในประเทศมีความยินดีที่จะสร้างความสมดุลระหว่าง Demand และ Supply ในประเทศโดยเพิ่มการผลิตสินค้าเหล็กให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศ

โดยข้อมูลจากสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทยในช่วงไตรมาส 1/64 อุตสาหกรรมเหล็กในประเทศมีการผลิตเพิ่มสูงขึ้นถึง 9.5% ไม่มีการชะลอการผลิตเพื่อดึงราคา ถึงแม้ว่าจะมีความต้องการใช้เพิ่มเติมจากกลุ่มผู้บริโภคที่หันกลับมาใช้สินค้าเหล็กในประเทศแทนการนำเข้า เนื่องจากราคาสินค้านำเข้ามีราคาที่ใกล้เคียง และ/หรือ สูงกว่าสินค้าเหล็กในประเทศ แต่การสั่งซื้อต้องรอสินค้าประมาณ 3 เดือน ซึ่งเกิดความเสี่ยงในการสั่งซื้อสินค้า รวมถึงบางครั้งมีการผิดนัดยกเลิกสินค้า ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้สินค้าเหล็กในประเทศอย่างมาก

นอกจากนี้จากการที่ผู้ผลิตในประเทศมีกำลังการผลิตกว่า 23.5 ล้านตัน แต่ปัจจุบันมีการใช้กำลังการผลิตเพียง 37% ดังนั้นจึงยังมีกำลังการผลิตที่เพียงพอที่จะตอบสนองต่อความต้องการใช้ของผู้บริโภคในประเทศอย่างแน่นอน

ด้านนายกวินพัฒน์ นิธิเตชเศรษฐ์ นายกสมาคมผู้ผลิตท่อและแปรรูปเหล็กแผ่น กล่าวว่า สถานการณ์ราคาสินค้าเหล็กทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยมีการปรับตัวสูงขึ้น เป็นไปตามกลไกตลาด เนื่องจากช่วงนี้เป็นช่วงที่สถานการณ์เศรษฐกิจทั่วโลกเริ่มมีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจดีขึ้น ความต้องการใช้เหล็กของโลกจึงปรับตัวสูงขึ้น

รวมถึงประเทศจีนมีการลดการผลิตในประเทศจากนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงการมีนโยบายการลดการผลิต เพื่อการส่งออกโดยการยกเลิกการคืนภาษีส่งออก (VAT. Rebate) 9-13% สำหรับสินค้าเหล็กบางรายการ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2564 ทำให้ผู้ส่งออกจีนต้องปรับราคาขึ้นชดเชยกับการยกเลิกการคืนภาษีดังกล่าว ซึ่งเป็นสิ่งที่สะท้อนต้นทุน และราคาขายของประเทศจีนด้วย ทางสมาคมผู้ผลิตท่อฯ มีความยินดีที่จะร่วมมือกับกลุ่ม 7 สมาคมเหล็กฯ ภาครัฐ และผู้บริโภค แก้ไขปัญหาร่วมกัน

อนึ่ง กลุ่ม 7 สมาคมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กไทย ซึ่งประกอบด้วย (1) สมาคมผู้ผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนไทย (2) สมาคมผู้ผลิตเหล็กแผ่นรีดเย็นไทย (3) สมาคมผู้ผลิตท่อโลหะและแปรรูปเหล็กแผ่น (4) สมาคมผู้ผลิตเหล็กทรงยาวด้วยเตาอาร์คไฟฟ้า (5) สมาคมผู้ผลิตเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน (6) สมาคมผู้ผลิตเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี และ (7) สมาคมโลหะไทย

อย่างไรก็ตามก็ต้องจับตามาตรการทางภาครัฐว่าจะแก้ปัญหาราคาเหล็กในประเทศไทยปรับตัวขึ้นแรงอย่างไร??? หลัง 7 สมาคมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กไทยได้เสนอ 5 แนวทางเพื่อเป็นทางออกไม่ให้กระทบนักลงทุนในตลาดหุ้น และผู้ประกอบการธุรกิจเหล็กในเวลานี้!!!

ในขณะเดียวกันหากย้อนกลับไปดูความเคลื่อนไหวของราคาหุ้นบนกระดานของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ อยู่ในหมวดธุรกิจเหล็ก โดยทาง “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ไปสำรวจข้อมูลราคาหุ้นเหล็กในช่วงที่ผ่านมานับตั้งแต่ต้นปี 2564-ปัจจุบัน พบว่า ราคาหุ้นทะยานขึ้นแรงเป็นส่วนใหญ่ สอดคล้องไปกับราคาเหล็กในตลาดโลกปรับตัวขึ้นแรง

ขณะเดียวกันหากพิจารณาให้ถี่ถ้วนเรื่องราคาหุ้นกลุ่มเหล็กจะเห็นว่านับจากต้นปีถึงปัจจุบันปรับตัวขึ้นเยอะ ก็อาจมีโอกาสที่จะได้เห็นการขายทำกำไรออกมาช่วงถัดไป

สอดคล้องไปตาม ด้านนายถนอมศักดิ์ สหรัตน์ชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการและหัวหน้าฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ กรุงไทย ซีมิโก้ จำกัด ประเมินว่า กลุ่มเหล็กยังต้องระมัดระวังนโยบายด้านภาษีของภาครัฐที่จะดูแลไม่ให้ราคาเหล็กปรับขึ้นมากเกินไป เพื่อไม่ให้กระทบกับธุรกิจรับเหมาก่อสร้างจากต้นทุนที่แพงขึ้น รวมถึงกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ก็อาจจะเผชิญกับต้นทุนทองแดงที่สูงขึ้น พร้อมให้ติดตามทิศทางราคาเหล็กโลกอย่างใกล้ชิด เพราะเมื่อใดที่ราคาอ่อนตัวลงก็จะมีผลต่อราคาหุ้นในกลุ่มเหล็กทันทีด้วยเช่นกัน  ดังนั้นนักลงทุนจะต้องระมัดระวังการเล่นเก็งกำไรหุ้นในกลุ่มเหล็กหลังจากนี้ไป

Back to top button