วิชามารพลวัต 2016

ร้อยปีก่อน จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ ยืมคำเก่าแก่ของโธมัส ฮอลส์ มาดัดแปลงใหม่เพื่ออธิบายพฤติกรรมนักลงทุนว่า การลงทุนต้องมีสิ่งที่เรียกว่า สัญชาตญาณ หรือ animal spirits อยู่ด้วยเสมอ ขาดไม่ได้ เพราถ้าขาด ก็ไม่ควรเข้าลงทุน


วิษณุ โชลิตกุล

 

ร้อยปีก่อน จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ ยืมคำเก่าแก่ของโธมัส ฮอลส์ มาดัดแปลงใหม่เพื่ออธิบายพฤติกรรมนักลงทุนว่า การลงทุนต้องมีสิ่งที่เรียกว่า สัญชาตญาณ หรือ  animal spirits อยู่ด้วยเสมอ ขาดไม่ได้ เพราถ้าขาด ก็ไม่ควรเข้าลงทุน

เหตุผลของเคนส์คือ การลงทุนทุกชนิด เป็นเรื่องการคาดหวังทางบวกต่ออนาคต หากไม่มั่นใจอนาคต ไม่ควรเข้าลงทุนที่ไหนๆ

คำถามที่เคนส์ไม่ได้ตอบคือ การคาดหวังอนาคตนั้น ควรที่จะตั้งบนพื้นฐานอะไร ถึงจะปราศจากหรือมีความเสี่ยงต่ำที่สุด แต่ให้ผลตอบแทนสูงสุด โดยไม่ต้องยึดตามสูตร “กำไรต่ำ ความเสี่ยงต่ำ” หรือ “กำไรสูง ความเสี่ยงสูง” อันคุ้นเคย

ที่น่าสนในคือ หากเคนส์มีชีวิตอยู่จนถึงวันนี้ เขาจะให้คำตอบอย่างไร กับกรณีที่ตัวเลขส่งออกเดือนธันวาคมของจีน ดีขึ้นกะทันหัน ซึ่งทำให้บรรยากาศตลาดหุ้นในเอเชียบวกขึ้นมาแรง 2 วันติดกัน ว่า ควรที่จะถอยห่างหรือเข้าลงทุนเพิ่ม

ตัวเลขล่าสุดวันอังคารที่ 12 มกราคม หน่วยงานศุลกากรจีนระบุว่า การค้าจีนในเดือนธันวาคมหดตัวน้อยกว่าคาด โดยในภาพรวมการส่งออกในรูปดอลลาร์ลดลง 1.4% แต่เพิ่มขึ้นหากคิดในรูปเงินหยวน 2.3% จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัว 6.8% ในเดือนพฤศจิกายน (ตลาดคาด -8.0%YoY) ได้เปรียบดุลการค้าในเดือนดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 6.09 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ จากเดือนก่อนหน้าที่มีเพียงแค่ 5.41 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และ การส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างไต้หวัน ฮ่องกงและเกาหลีใต้ยังขยายตัวได้อยู่ ส่วนการนำเข้าแม้ว่าจะหดตัวเป็นเดือนที่ 14 ติดต่อกันแต่ปรับลดลง 7.6% จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัว 8.7% โดยการนำเข้าน้ำมันดิบและทองแดงมีมูลค่าการนำเข้าสูงสุดเป็นสองอันดับแรก

ตัวเลขทางบวกดังกล่าว ทำให้บรรยากาศการลงทุนระยะสั้นในเอเชียดูดีมากขึ้น เมื่อตลาดหุ้นเอเชียพากันวิ่งขึ้นต่อเนื่อง 2 วัน และ สกุลเงินเอเชียส่วนใหญ่แข็งค่าขึ้นหลังจากตัวเลขการค้าของจีนออกมาดีกว่าที่นักลงทุนคาดไว้ โดยเงินวอนและเงินริงกิตนำสกุลเงินเอเชียแข็งค่า เนื่องจากนักลงทุนปิดการเก็งกำไรด้วยการกลับเข้าซื้อสกุลเงินท้องถิ่น

ที่น่าสนใจ คือ ตัวเลขการส่งออกของจีนไปยังฮ่องกที่โป่งพองมากเป็นพิเศษอย่างมีนัยสำคัญในเดือนธันวาคม สูงถึง 10.8% ทั้งที่หดตัวมาโดยตลอด 8.7% ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนพฤศจิกายน ตัวเลขดังกล่าว ทำให้เกิดคำถามว่า จีนกำลังเล่นเกมตัวเลขเพื่อให้สถานการณ์ดีเกินจริงหรือไม่ โดยเฉพาะเมื่อโยงเข้ากับการรักษาเสถียภาพค่าเงินหยวนและตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้

ร้ายกว่านั้น ตัวเลขนำเข้าของจีนจากฮ่องกงก็พุ่งกระฉูดในเดือนธันวาคมตามไปด้วยไม่แพ้กัน โดยเพิ่มขึ้นมากถึง 65% จากระยะเดียวกันปีก่อน  มากที่สุดในรอบ 3 ปีทีเดียว

พฤติกรรมสมัยสงครามเย็นเข้มข้นที่เจ้าหน้าที่หน่วยผลิตทางเศรษฐกิจของพรรคคอมมิวนิสต์ใยยุคกลุ่ม 4 คนและเหมา เจ๋อ ตง ทำการปฏิวัติทางวัฒนธรรม ในการเสกปั้นตัวเลข ถูกนำมาย้อนรอยเปรียบเทียบว่า ยุคนั้น พวกที่ชูธงนำการต่อสู้   “แดงก่อน เชี่ยวชาญทีหลัง”  มักจะนำเอาตัวเลขทางสถิติที่ชี้ให้เห็นว่าภายใต้การนำของสรรนิพนธ์ เหมา เจ๋อ ตง สามารถทำให้ผลผลิตของหน่วยการลิตต่างๆ “ดีขึ้นเรื่อยๆ” กว่าจะค้นพบความจริงว่า ตัวเลขดังกล่าวกุขึ้นมา หายนะทางเศรษฐกิจก็มาเยือนเสียแล้ว คนจีนอดตายกว่า 10 ล้านคนในยุคปฏิวัติทางวัฒนธรรม จนกระทั่ง เติ้ง เสี่ยว ผิง และพวก ต้องลุกขึ้นมาชูธงใหม่ “แมวสีอะไร ขอให้จับหนูได้ก็พอ” ฟื้นเศรษฐกิจมาถึงปัจจุบัน

ตัวเลขส่งออกของจีนมายังฮ่องกง และนำเข้าจากฮ่องกง ในเดือนธันวาคมที่เพิ่มผิดปกติ กำลังทำให้เกิดคำถามว่าวิชามารครั้งอดีตของเจ้าหน้าที่พรรคคอมมิวนิสต์จีน กำลังถูกนำมาเล่นแร่แปรธาตุอีกครั้งในยุคข้อมูลข่าวสาร ทั้งที่ตัวเลขดังกล่าว ไม่น่าจะหลอกใครได้นาน

การประกาศตัวเลขส่งออกไปยังฮ่องกงที่โดดเด่นนี้ ประจวบเหมาะกับเวลาที่ตลาดหุ้นจีนที่ดีดตัวสูงขึ้น และเงินหยวนที่มีเสถียรภาพมากขึ้นหลังจากธนาคารกลางจีนได้เข้าแทรกแซงตลาดออฟชอร์เพื่อปกป้องสกุลเงินหยวนด้วยการเข้าซื้อสกุลเงินหยวนในตลาดฮ่องกง ยิ่งทำให้ข้อสงสัยถึงการสมรู้ร่วมคิดสร้างตัวเลขส่งออก “มีมูล” มากขึ้น

มีคำอธิบาย 2 ประการว่า หากไม่ใช่ในกรณีของทางการจีนสมรู้ร่วมคิดเพื่อทำให้ตัวเลขเศรษฐกิจดูดีขึ้น ซึ่งล้วนแล้วแต่สะท้อนพฤติกรรมที่อาศัยความบกพร่องของระบบกำกับดูแลทางการค้าและการเงินของทางการจีนทั้งสิ้นคือ

– การปลอมแปลงใบกำกับสินค้า  (อินวอยซ์) ในการส่งออกและนำเข้า เพื่อหลบเลี่ยงภาษีศุลกากรขนเงินเข้าออกต่างประเทศผ่านระบบโพยก๊วนที่ซับซ้อน

– การหลบเลี่ยงข้อจำกัดทางการเงินของธนาคารกลางจีน เพื่อเก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยนและตลาดหุ้นข้ามประเทศผ่านทางฮ่องกงในรูปของธุรกรรมการค้าอำพราง ซึ่งทางการจีนยอมรับว่ามีส่วนทำให้การค้าจีน-ฮ่องกงดูมากกว่าสินค้าจริงที่ซื้อขายกัน

ข้อเท็จจริงที่ระบุว่า ในเดือนธันวาคม 2558 ความแตกต่างของค่าเงินในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนของหยวนจีนในแผ่นดินใหญ่ (ออนชอร์) และในฮ่องกง  (ออฟชอร์) ที่ถ่างกว้างมากเป็นพิเศษ เป็นตัวการสนับสนุนที่ชัดเจนว่า การสร้างตัวเลขจำแลงทางการค้าเพื่อหากำไรจากค่าเงินหยวนข้ามพรมแดน เป็นสิ่งที่สร้างกำไรมหาศาล โดยที่เรื่องนี้ ทางการจีนไม่จำเป็นต้องสมคบคิดแต่อย่างใด

สถานการณ์เช่นนี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเคยมีปรากฏการณ์ทำนองเดียวกันเกิดขึ้น ในช่วงเงินหยวนพุ่งแรงปลายปี 2556 แล้วก็ซบเซาลงเมื่อเวลาผ่านไป หลังจากที่ช่องว่างระหว่างค่าเงินหยวนแผ่นดินใหญ่และฮ่องกงแคบลงจนไม่คุ้ม

ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ จะเป็นไปตามสมมติฐานใด เป็นเรื่องต้องติดตามกันต่อไป เพราะเรื่องของจีนนั้น มีความซับซ้อนที่ซ่อนเงื่อนไขมากมาย

Back to top button