“บลจ. BCAP” แจง 2 กองทุน ไร้ผลกระทบ ”แฟนตาเซีย” ผิดนัดชำระหนี้

"บลจ.บางกอกแคปปิตอล” แจงกรณีแฟนตาเซีย โฮลดิ้งส์ กรุ๊ป อสังหาริมทรัพย์จีนผิดนัดชำระหนี้ ไม่ได้รับผลกระทบต่อกองทุนเปิด BCAP-GMA และกองทุนเปิด BCAP -GMA Plus พร้อมเผยว่าไม่ได้ลงทุนในตราสารบริษัทดังกล่าว ซึ่งสัดส่วนลงทุนในอสังหาฯจีนแค่ 0.10% ของพอร์ตเท่านั้น 


ดร.ธนาวุฒิ พรโรจนางกูร รองกรรมการผู้จัดการ หัวหน้าสายงานบริหารการลงทุน บลจ.บางกอกแคปปิตอล หรือ BCAP เปิดเผยถึงกรณีที่ บริษัทแฟนตาเซีย โฮลดิ้งส์ กรุ๊ป จำกัด บริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่มียอดขายอันดับ 66 ของประเทศจีน (เทียบกับ Evergrande ที่อยู่อันดับที่ 2) ผิดนัดชำระหนี้แบบจงใจ (deliberate default) จำนวน 206 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งส่งผลลบต่อ sentiment การลงทุนในตลาดการเงินและภาคอสังหาริมทรัพย์ในประเทศจีน และส่งแรงกดดันต่อการเร่งดำเนินนโยบายหรือการออกกฎระเบียบในการควบคุมและช่วยเหลือผู้เกี่ยวข้องและผู้ได้รับผลกระทบ

สำหรับส่วนของ บลจ.บีแคป ขอชี้แจงว่า กองทุนภายใต้การจัดการของ บลจ.บีแคป ไม่ได้มีสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ของ แฟนตาเซีย โฮลดิ้งส์ กรุ๊ป จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ที่มีปัญหาผิดนัดชำระหนี้อยู่ในขณะนี้

ทั้งนี้ กองทุนเปิดบีแคป โกลบอล มัลติ แอสเซท (BCAP-GMA) และกองทุนเปิดบีแคป โกลบอล มัลติ แอสเซท พลัส (BCAP -GMA Plus) มีสัดส่วนการลงทุนในหุ้นกู้จีนที่เป็นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์อยู่เพียงเล็กน้อย (ไม่ถึง 0.10% ของพอร์ตการลงทุน) ดังนั้นถึงแม้ว่าจะมีผู้ประกอบการรายอื่นในกลุ่มนี้ผิดนัดชำระหนี้เพิ่มเติม ก็จะไม่ส่งผลกระทบโดยตรงอย่างมีนัยสำคัญต่อกองทุนเนื่องจากมีสัดส่วนในระดับต่ำมากๆ

อย่างไรก็ตามทาง บลจ.บีแคป จะติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด และรายงานให้นักลงทุนทราบเมื่อมีเหตุการณ์ที่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ

โดยดร.ธนาวุฒิกล่าวว่า บลจ.บีแคปได้ร่วมกับ PICTET ไพรเวทแบงก์ชั้นนำของโลก สัญชาติสวิสเซอร์แลนด์ จัดตั้งกองทุน BCAP-GMA และ BCAP-GMA Plus และจดทะเบียนกองทุนเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2564 โดยนโยบายกองทุน BCAP-GMA  เป็นกองทุนแบบ conservative ลงทุนในกองทุนต่างประเทศรวมกว่า 20 กองทุน เน้นลงทุนในสินทรัพย์หลากหลายในต่างประเทศทั่วโลกที่มั่นคงและมีความเสี่ยงต่ำ โดยประมาณ 80% ลงทุน ในเงินฝาก พันธบัตร หุ้นกู้ และอีกประมาณ 20% ลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง

ส่วนกองทุน BCAP-GMA Plus เป็นกองทุนแบบ Dynamic  มีนโยบายลงทุนในกองทุนต่างประเทศประมาณ 30 กองทุน ลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงในต่างประเทศทั่วโลกในสัดส่วนประมาณ 75%  เช่น หุ้น REITs ทองคำ และมีสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์มั่นคงประมาณ 25%

   

Back to top button