สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 23 มิ.ย. 2564

สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 23 มิ.ย. 2564


ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (23 มิ.ย.) หลังสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่ซบเซา ซึ่งรวมถึงยอดขายบ้านใหม่ที่ร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 1 ปี อย่างไรก็ดี ดัชนี Nasdaq ปิดทำนิวไฮ โดยได้ปัจจัยหนุนจากแรงซื้อหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 33,874.24 จุด ลดลง 71.34 จุด หรือ -0.21% ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,241.84 จุด ลดลง 4.60 จุด หรือ -0.11% ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 14,271.73 จุด เพิ่มขึ้น 18.46 จุด หรือ +0.13%

 

ตลาดหุ้นยุโรปปิดลดลงเมื่อคืนนี้ (23 มิ.ย.) เนื่องจากความวิตกเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อได้บดบังปัจจัยบวกจากการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่บ่งชี้ถึงกิจกรรมทางธุรกิจของยุโรปที่เพิ่มขึ้นในเดือนมิ.ย. ขณะที่หุ้นกลุ่มสินค้าหรูหราของฝรั่งเศสร่วงลง หลังเอชเอสบีซีแสดงความเห็นในเชิงลบเกี่ยวกับภาวะตลาดสินค้าฟุ่มเฟือย

ดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดตลาดที่ระดับ 453.10 จุด ลดลง 3.32 จุด หรือ -0.73%

ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 6,551.07 จุด ลดลง 60.43 จุด หรือ -0.91%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 15,456.39 จุด ลดลง 179.94 จุด หรือ -1.15% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,074.06 จุด ลดลง 15.95 จุด หรือ -0.22%

 

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดลดลงเมื่อคืนนี้ (23 มิ.ย.) โดยถูกกดดันจากการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่บ่งชี้ว่าแรงกดดันด้านเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือนมิ.ย. และการร่วงลงของหุ้นกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคถ่วงตลาดลงด้วย

ดัชนี FTSE 100 ปิดที่ 7,074.06 จุด ลดลง 15.95 จุด หรือ -0.22%

 

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ (23 มิ.ย.) ขณะที่สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ดีดตัวขึ้นปิดที่เหนือระดับ 75 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังสหรัฐเปิดเผยสต็อกน้ำมันดิบลดลงมากกว่าคาดในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งบ่งชี้ถึงการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์น้ำมัน

สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนส.ค. เพิ่มขึ้น 23 เซนต์ หรือ 0.3% ปิดที่ 73.08 ดอลลาร์/บาร์เรล

สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนส.ค. เพิ่มขึ้น 38 เซนต์ หรือ 0.5% ปิดที่ 75.19 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่เดือนต.ค. 2561

 

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ (23 มิ.ย.) หลังจากนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้คำมั่นว่า เฟดจะไม่เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย นอกจากนี้ ข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอของสหรัฐยังเป็นปัจจัยหนุนแรงซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย

ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนส.ค. เพิ่มขึ้น 6 ดอลลาร์ หรือ 0.34% ปิดที่ 1,783.4 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 25.4 เซนต์ หรือ 0.98% ปิดที่ 26.111 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 16.3 ดอลลาร์ หรือ 1.52% ปิดที่ 1,086.5 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนก.ย. เพิ่มขึ้น 71.60 ดอลลาร์ หรือ 2.8% ปิดที่ 2,630.50 ดอลลาร์/ออนซ์

 

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (23 มิ.ย.) หลังจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) คาดการณ์ว่าตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐจะดีดตัวขึ้น ขณะเดียวกันนักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ซึ่งรวมถึงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 1/2564 และดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือนพ.ค.

ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.04% แตะที่ 91.7995 เมื่อคืนนี้

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 110.96 เยน จากระดับ 110.62 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9183 ฟรังก์ จากระดับ 0.9182 ฟรังก์ แต่เมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.2303 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2320 ดอลลาร์แคนาดา

ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1928 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1936 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 1.3963 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3941 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 0.7573 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7552 ดอลลาร์สหรัฐ

Back to top button