“หมอยง” ชี้โควิดสายพันธุ์ “เดลต้า” แพร่กระจายเร็ว แนะเร่งฉีดวัคซีน

“หมอยง” ชี้โควิดสายพันธุ์ “เดลต้า” แพร่กระจายเร็ว แนะเร่งฉีดวัคซีน เพื่อมีภูมิต้านทานขึ้น เพื่อลดความรุนแรงของโรค และป้องกันการเสียชีวิต ขณะเดียวกันมีการศึกษาวิจัยทั้งชนิดของวัคซีนและการฉีด รวมทั้งระยะห่างของวัคซีนที่จะใช้รูปแบบใดจะให้ผลสูงสุด


นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า เป็นที่ทราบกันดีว่าขณะนี้สายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) แพร่กระจายได้เร็วมาก เพราะติดต่อง่าย จึงทำให้สายพันธุ์นี้ระบาดได้อย่างรวดเร็ว และจะครอบคลุมทั้งโลก สำหรับในประเทศไทยสายพันธุ์นี้จะมาแทนที่สายพันธุ์อังกฤษหรือแอลฟาภายในเดือนนี้ เพราะติดต่อและระบาดได้ง่ายกว่าสายพันธุ์อังกฤษ ซึ่งจะทำให้ตัวเลขสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

ขณะที่วัคซีนทุกชนิด พัฒนามาจากสายพันธุ์เดิมตั้งแต่อู่ฮั่นไวรัสก็มีการพัฒนามามากพอสมควร จึงทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลง วัคซีนที่มีภูมิคุ้มกันสูง การลดลงก็ยังทำให้พอจะป้องกันได้ดีกว่า ส่วนวัคซีนที่มีภูมิคุ้มกันขึ้นได้ต่ำกว่า ก็จะทำให้การป้องกันได้น้อยลงไปอีก

การพิจารณาศึกษาวิจัยอย่างรวดเร็ว ทั้งชนิดของวัคซีนและการฉีด รวมทั้งระยะห่างของวัคซีนที่จะใช้ จึงจำเป็นที่จะต้องปรับให้เหมาะสมที่จะให้ได้ผลสูงสุดตามทรัพยากรที่มีอยู่ และมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา โดยเฉพาะในประเทศไทย สิ่งที่ทำวันนี้ว่าเหมาะสม อาจจะไม่เหมาะสมในอีก 1 เดือนข้างหน้า หรือยิ่งนานไป ก็จะต้องมีการปรับเปลี่ยนอีก การฉีดวัคซีนสลับระหว่างเข็ม 1 และเข็ม 2 หรือการให้ในเข็มที่ 3 กระตุ้น จำเป็นต้องมีการศึกษาว่ารูปแบบใดจะให้ผลสูงสุด  นพ.ยง กล่าว

ทั้งนี้ การเพิ่มจำนวนการฉีดวัคซีน มีความจำเป็นที่จะกระตุ้นให้ภูมิคุ้มกันสูงขึ้น และรอจนกว่าจะมีวัคซีนที่ใช้สายพันธุ์ใหม่ที่เหมาะสมตรงกับสายพันธุ์ที่ระบาด อย่างเช่นวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ก็จะได้ผลประโยชน์สูงสุด

อย่างไรก็ตามในขณะที่ยังไม่มีวัคซีนสายพันธุ์ใหม่ เมื่อมีวัคซีนอะไร ก็ควรฉีดเข้าร่างกายให้เร็วที่สุด อย่างน้อยก็มีภูมิต้านทานขึ้นมาจำนวนหนึ่ง เพื่อลดความรุนแรงของโรค และป้องกันการเสียชีวิตไว้ก่อน จนกว่าจะมีวัคซีนที่นำมากระตุ้นให้ได้ภูมิคุ้มกันสูงสุด เร็วที่สุด และรอวัคซีนสายพันธุ์ใหม่ที่ตรงกับสายพันธุ์ที่ระบาดหรือคาดว่าจะระบาดในปีต่อไป

ถ้าไวรัสนี้ยังมีการระบาดมากในโลก ก็จะพัฒนาเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ต่อไปเรื่อยๆ

โดยทั่วโลกมีความต้องการวัคซีนมากกว่า 10,000 ล้านโดส ภายในปีนี้ และยังต้องการวัคซีนมากระตุ้นอีกไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนนี้อีกต่อไป จึงทำให้วัคซีนไม่เพียงพอกับประชากรโลก ประเทศผู้ผลิต หรือประเทศพัฒนาแล้ว จะมีความได้เปรียบกว่า

 

Back to top button