“ดอลลาร์อ่อนค่า” หลังนลท.ขายก่อน “เฟด” ประกาศผลการประชุมคืนนี้

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า หากเทียบกับสกุลเงินหลัก เนื่องจากนักลงทุนขายดอลลาร์ออกมาก่อน “เฟด” ประกาศผลการประชุม ขณะที่ข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนออกมาต่ำกว่าคาดการณ์


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (27 ก.ค. 2564) เนื่องจากนักลงทุนขายดอลลาร์ออกมาก่อนธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศผลการประชุมในวันพุธนี้ตามเวลาสหรัฐ หรือตรงกับเช้าตรู่ของวันพฤหัสบดีตามเวลาประเทศไทย

สำหรับดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.23% แตะที่ 92.4389 เมื่อคืนนี้

โดยดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 109.72 เยน จากระดับ 110.37 เยน และอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9142 ฟรังก์ จากระดับ 0.9160 ฟรังก์ แต่แข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2591 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2548 ดอลลาร์แคนาดา

ขณะที่ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1821 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1800 ดอลลาร์ และเงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.3885 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3813 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.7360 ดอลลาร์ จากระดับ 0.7378 ดอลลาร์

ทั้งนี้ทำให้บรรดานักลงทุนจับตาการประกาศนโยบายการเงินของเฟดในวันพุธนี้ตามเวลาสหรัฐ รวมถึงการแถลงข่าวของนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดหลังจากสิ้นสุดการประชุม

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐที่เปิดเผยเมื่อคืนนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานว่า ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐ เช่น เครื่องบิน รถยนต์ และเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่มีอายุการใช้งานตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้น 0.8% ในเดือนมิ.ย. น้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะเพิ่มขึ้น 2.1% ซึ่งนับเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกันแล้วที่ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนออกมาต่ำกว่าคาดการณ์

อีกทั้งเอสแอนด์พี คอร์โลจิก เคส-ชิลเลอร์เปิดเผยผลสำรวจบ่งชี้ว่า ดัชนีราคาบ้านทั่วสหรัฐพุ่งขึ้น 16.6% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นการพุ่งขึ้นมากที่สุดในรอบกว่า 30 ปี โดยเพิ่มขึ้นจากระดับ 14.8% ในเดือนเม.ย. และเป็นการปรับตัวขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 12

ส่วนดัชนีราคาบ้านใน 20 เมืองของสหรัฐ เพิ่มขึ้น 17% ในเดือนพ.ค. หลังจากเพิ่มขึ้น 15% ในเดือนเม.ย. และมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 16.3%

รวมทั้ง Conference Board ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยเศรษฐกิจเปิดเผยผลสำรวจระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวขึ้นแตะระดับ 129.1 ในเดือนก.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 16 เดือน จากระดับ 128.9 ในเดือนมิ.ย.

ตัวเลขดังกล่าวบ่งชี้ว่า ความเชื่อมั่นของชาวอเมริกันต่อเศรษฐกิจยังคงอยู่ในระดับสูง แม้ว่าการระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาอาจส่งผลให้รัฐบาลจำเป็นต้องบังคับใช้ข้อจำกัดบางประการทั้งต่อบุคคลและภาคธุรกิจ

Back to top button