RATCH ส่งแผน EIA โรงไฟฟ้า “อาร์ อี เอ็น โคราช” ส.ค.นี้ คาดเริ่มก่อสร้างปี 65

RATCH ส่งแผน EIA โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม “อาร์ อี เอ็น โคราช เอนเนอร์ยี่” ภายในส.ค.นี้ คาดก่อสร้างปี 65 ก่อนจะเริ่ม COD ภายในปี 66


บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH เปิดเผยว่า โครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมอาร์ อี เอ็น โคราช เอนเนอร์ยี่ อยู่ระหว่างการศึกษาและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และจะเสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณาภายในเดือน ส.ค.64 ขณะเดียวกัน โครงการได้ดำเนินการเจรจาเพื่อจำหน่ายไฟฟ้าให้กับโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ นอกจากนี้ โครงการยังเตรียมการก่อสร้างสถานีไฟฟ้าระบบ 115-22 กิโลโวลต์ (kV) ซึ่งจะเชื่อมต่อกับระบบผลิตไฟฟ้าของโครงการฯ และระบบไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เพื่อส่งต่อไปยังลูกค้าอุตสาหกรรมต่างๆ

โดยโรงไฟฟ้าดังกล่าวมีกำลังผลิต 40 เมกะวัตต์ เป็นโรงไฟฟ้าประเภท Independent Power Supply ตั้งอยู่ในเขตประกอบการอุตสาหกรรมนวนคร จังหวัดนครราชสีมา โครงการดังกล่าวดำเนินงานโดยบริษัท อาร์ อี เอ็น โคราช เอนเนอร์ยี่ จำกัด (REN) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างราช กรุ๊ป กับ บริษัท นวนคร จำกัด (มหาชน) หรือ NNCL และบริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ถือหุ้น 40%, 35% และ 25% ตามลำดับ โดยจะผลิตไฟฟ้าเพื่อจำหน่ายให้กับลูกค้าในเขตประกอบการอุตสาหกรรมนวนคร จังหวัดนครราชสีมา และมีกำหนดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ในปี 66

นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ RATCH เปิดเผยว่า  โครงการโรงไฟฟ้าอาร์ อี เอ็น โคราช เอนเนอร์ยี่ เป็นโครงการ IPS แรกของบริษัทฯ โดยมีมูลค่าโครงการประมาณ 2,176 ล้านบาท มีความก้าวหน้าในการพัฒนาโครงการอย่างเป็นรูปธรรม เริ่มจากการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการเมื่อปี 62 และเริ่มศึกษาและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการเมื่อปี 63 และกำลังจะนำเสนอ สผ.

นอกจากนี้ โครงการยังเตรียมพร้อมสำหรับการจัดหาเครื่องจักรหลักสำหรับการผลิตไฟฟ้า โดยใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง โดยใช้เทคโนโลยีระบบโคเจนเนอเรชั่น เพราะมีประสิทธิภาพการผลิตสูงและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งตามแผนงานกำหนดงานก่อสร้างในปี 65

สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าอาร์ อี เอ็น โคราช เอนเนอร์ยี่เป็นโรงไฟฟ้าประเภท IPS ที่เป็นการผสานจุดแข็งของพันธมิตรร่วมทุน โดยราช กรุ๊ป เชี่ยวชาญด้านการพัฒนา ก่อสร้างและดำเนินงานโรงไฟฟ้าทั้งเชื้อเพลิงฟอสซิล และพลังงานทดแทน ส่วนพีอีเอ เอ็นคอม มีความชำนาญด้านระบบส่งและระบบจำหน่ายไฟฟ้า ขณะที่กลุ่มนวนครเชี่ยวชาญการพัฒนาและบริหารนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งโรงงานอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้น ย่อมส่งผลให้ลูกค้าของโครงการฯ เพิ่มขึ้นด้วย

“โครงการโรงไฟฟ้าอาร์ อี เอ็น โคราช เอนเนอร์ยี่เป็นหนึ่งใน 8 โครงการที่กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาและก่อสร้าง รวมกำลังผลิตตามสัดส่วนการลงทุน 1,237 เมกะวัตต์ ซึ่งจะทยอยผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในช่วงปี 2564-2567 และเสริมรายได้และความแข็งแกร่งทางการเงินของบริษัทฯ เพิ่มขึ้น บริษัทฯ ยังหมายมั่นว่าโครงการโรงไฟฟ้าอาร์ อี เอ็น โคราช เอนเนอร์ยี่จะเป็น IPS นำร่องที่จะขยายผลไปยังนิคมอุตสาหกรรมแห่งอื่นๆ ในอนาคต เพื่อช่วยให้การพัฒนาเศรษฐกิจตามแผนยุทธศาสตร์ชาติขับเคลื่อนเดินหน้าได้ต่อเนื่องด้วย ” นายกิจจา กล่าวปิดท้าย 

Back to top button