สธ. ย้ำ “คลินิก” ห้ามตั้งจุดคัดกรอง-ตรวจ-รักษา “โควิด” พื้นที่สาธารณะ หวั่นคลัสเตอร์ใหม่

สธ. ย้ำ “คลินิก” ต้องจัดตั้งจุดบริการคัดกรองในรูปแบบ One stop service ตั้งแต่การคัดกรองจนสิ้นสุดการรักษาโรคโควิด-19 โดยห้ามปะปนกับจุดให้บริการอื่นๆของคลินิก หรือพื้นที่สาธารณะ อย่างทางเท้าด้านหน้าคลินิกโดยเด็ดขาด


นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ด้วยสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่ โรงพยาบาลเอกชน หรือคลินิก จึงเข้ามาให้บริการตรวจคัดกรองและตรวจทางห้องปฏิบัติการยืนยันการติดเชื้อโรคโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR หรือ Antigen Test Kit เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อีกทั้งอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนให้ได้รับบริการตรวจคัดกรองจากสถานพยาบาลใกล้บ้าน ซึ่งภาครัฐขอขอบคุณสถานพยาบาลเอกชนที่เข้ามามีส่วนร่วมในการฝ่าฟันวิกฤติการระบาดของโรคโควิด-19

โดยในระยะเวลาที่ผ่านมาโรงพยาบาลเอกชน และคลินิกต่างก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี แต่ก็มีการพบข้อร้องเรียนจากประชาชนเกี่ยวกับคลินิกที่มีการตั้งจุดบริการคัดกรองโควิด-19 ในพื้นที่สาธารณะจนประชาชนโดยรอบเกิดความกังวลว่าจะเกิดการสัมผัสกับผู้ป่วย หรือเกิดคลัสเตอร์โควิด-19 จากจุดบริการของคลินิก

ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกัน กรม สบส.ขอเน้นย้ำให้ผู้ประกอบกิจการและผู้ดำเนินการ คุมเข้มมาตรฐานบริการตรวจคัดกรองและตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันการติดเชื้อโควิด-19 มีการจัดตั้งจุดให้ถูกต้อง ปลอดภัย ตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดโดยให้จัดตั้งจุดบริการคัดกรองในรูปแบบ One stop service ตั้งแต่การคัดกรองจนสิ้นสุดการรักษา แยกจากจุดบริการผู้ป่วยนอก (OPD) ทั่วไป ห้ามปะปนกับจุดให้บริการอื่นๆ ของคลินิก หรือพื้นที่สาธารณะอย่างทางเท้าด้านหน้าคลินิกโดยเด็ดขาด

อย่างไรก็ตามหาก กรม สบส.ตรวจพบว่าคลินิกแห่งใดปฏิบัติไม่ถูกต้องตามมาตรฐาน ก็จะดำเนินการตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 ซึ่งมีโทษทั้งจำและปรับ

ด้านทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรม สบส. กล่าวว่า สำหรับบทกำหนดโทษของสถานพยาบาลเอกชนที่ตั้งจุดให้บริการตรวจคัดกรองโรคโควิด-19 ไม่เหมาะสม จนอาจจะก่อให้เกิดการแพร่กระจายของโรคนั้น ตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 ผู้ดำเนินการสถานพยาบาลจะมีความผิดในฐานไม่ควบคุมและดูแลให้ผู้ประกอบวิชาชีพในสถานพยาบาลปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายเกี่ยวกับการประกอบวิชาชีพของตน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นอกจากนี้ในกรณีที่พบว่าผู้ให้บริการมิใช่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม หรือผู้ประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ ผู้ให้บริการรายดังกล่าวจะถือว่ามีความผิดตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 ฐานประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนและรับอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือมีความผิดตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ พ.ศ. 2547 ฐานประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์โดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนและรับอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทั้งนี้หากพบเห็นการจัดตั้งจุดบริการตรวจคัดกรองโรคโควิด-19 ของคลินิกที่อาจจะก่อให้เกิดอันตรายในเขตกรุงเทพฯ สามารถแจ้งได้ที่ สายด่วนกรม สบส. 1426 และในส่วนภูมิภาค ให้แจ้งที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย” รองอธิบดีกรม สบส.ระบุ

 

Back to top button