SMD อัพเป้ารายได้ปีนี้แตะ 1.2 พันลบ. ตุน Backlog เพิ่มกว่า 300 ลบ.

SMD อัพเป้ารายได้ปีนี้แตะ 1.2 พันลบ. หลังเซ็นสัญญาซื้อขายและส่งมอบงานเพิ่ม ตุน Backlog เพิ่มกว่า 300 ลบ. คาดรับรู้รายได้ทั้งหมดในปีนี้


นายวิโรจน์ วสุศุทธิกุลกานต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซนต์เมด จำกัด (มหาชน) หรือ SMD เปิดเผยว่า บริษัทปรับเพิ่มเป้ารายได้ปีนี้เติบโตแตะ 1,200 ล้านบาท หลังเซ็นสัญญาซื้อขายและส่งมอบเครื่องวัดออกซิเจนในเลือดให้กับกองสร้างเสริมสุขภาพ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร จำนวน 10,000 เครื่อง มูลค่ารวม 8,000,000 บาท ในช่วงเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา และเซ็นสัญญาซื้อขายเพิ่มอีก จำนวน 25,000 เครื่อง มูลค่า 20,000,000 บาท เมื่อต้นเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา โดยมีกำหนดส่งมอบภายในปีงบประมาณ 64 รวมมูลค่าการสั่งซื้อ ทั้ง 2 สัญญา เป็นเงิน 28,000,000 บาท ทำให้สนับสนุนมูลค่างานในมือที่รอส่งมอบ (Backlog) เพิ่มเป็นไม่น้อยกว่า 300 ล้านบาท คาดว่าจะรับรู้เป็นรายได้ทั้งหมดภายในปีนี้

“แม้ตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ของประเทศไทยมีแนวโน้มดีขึ้น แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ผู้ป่วยติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย ทำให้การตรวจคัดกรองผู้ป่วยเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนอกจากการเฝ้าระวังสังเกตอาการได้ด้วยตัวเองจากภายนอกแล้ว ปัจจุบันยังสามารถวัดผลได้จากค่าปริมาณความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด (Oxygen Saturation) โดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า Fingertip Pulse Oximeter อีกทั้งเครื่องมือชนิดนี้ยังใช้ใน Home Isolation และ Community Isolation อีกด้วย

บริษัทตระหนักถึงความจำเป็นในการใช้ของครุภัณฑ์การแพทย์ดังกล่าว จึงนำเข้าและจัดจำหน่ายเครื่องวัดออกซิเจนในเลือดจากปลายนิ้ว (Fingertip Pulse Oximeter) ที่ได้รับการอนุญาตให้นำเข้าจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้แก่โรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน” นายวิโรจน์ กล่าว

อย่างไรก็ตามด้วยความต้องการใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะเครื่องมือแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 SMD จึงได้ตระหนักถึงความต้องการ นำเข้าเครื่องวัดออกซิเจนในเลือดเพื่อจัดจำหน่ายให้แก่โรงพยาบาลรัฐ  เอกชน นิติบุคคล และบุคคล รองรับความต้องการที่มีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเครื่องวัดออกซิเจนในเลือดที่ซื้อขายในครั้งนี้ มีเทคโนโลยีและซอฟต์แวร์ที่สนับสนุนที่จะทำให้การเฝ้าระวัง ป้องกัน ติดตามระดับความรุนแรงของการติดเชื้อโควิด 19 มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

Back to top button