STECH ไตรมาส 3 กำไรโตทะลุ 40 ลบ. คาดผลงาน Q4 สดใส ตุนแบ็กล็อกแน่น 900 ลบ.

STECH ไตรมาส 3 กำไรแตะ 40.71 ลบ. คาดผลงานไตรมาส 4/2564 สดใส หลังตุนแบ็กล็อกทะลุ 900 ลบ. เนื่องจากธุรกิจของ STECH อิงกับระบบสาธารณูปโภค โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างขั้นพื้นฐานในด้านการคมนาคมขนาดใหญ่ จะกระตุ้นภาพรวมเศรษฐกิจและการลงทุนในประเทศ ซึ่งเป็นผลดีต่อบริษัท


นายวัฒน์ชัย มงคลศรีสวัสดิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยามเทคนิคคอนกรีต จำกัด (มหาชน) หรือ STECH เปิดเผยว่าภาพรวมธุรกิจในช่วงไตรมาส 4 ซึ่งเป็นช่วงโค้งสุดท้ายของปี คาดว่าจะดีกว่าในช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมา โดยมองว่าหลังรัฐบาลประกาศเปิดประเทศ น่าจะเป็นสัญญาณเชิงบวก และธุรกิจของ STECH อิงกับระบบสาธารณูปโภค เชื่อว่าน่าจะเป็นปัจจัยบวกของบริษัทฯ ที่ดีให้กลับมาคึกคักได้เหมือนเคย โดยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ รวมถึงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในด้านการคมนาคม จะกระตุ้นภาพรวมเศรษฐกิจและการลงทุนในประเทศ ภาคเอกชนได้รับความเชื่อมั่น ทยอยเปิดตัวงานโครงการใหม่เพิ่มขึ้น และส่งผลดีต่อ STECH

โดยปัจจุบันมีงานในมือที่รอส่งมอบ (Backlog) รวมอยู่ที่ 900 ล้านบาท แบ่งเป็น คำสั่งซื้อจากการขายผลิตภัณฑ์คอนกรีตอัดแรงและบริการ มูลค่ากว่า 800 ล้านบาท ซึ่งเตรียมทยอยส่งมอบและคาดรับรู้รายได้ทั้งหมดในปีนี้ รวมทั้งได้รับงานก่อสร้างระบบสายส่งไฟฟ้าแรงสูง 115 kV จากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) มูลค่าราว 97 ล้านบาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ซึ่งลงนามสัญญาเรียบร้อยแล้ว โดยมีระยะเวลาการทำงาน 1 ปี สนับสนุนภาพรวมการรับรู้รายได้แข็งแกร่ง  เมื่อเทียบกับครึ่งปีแรกได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ที่มีการแพร่ระบาดต่อเนื่องจากปี 2563 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ภาครัฐมีการประมูลงานล่าช้ากว่าแผนงานที่วางไว้

นอกจากนี้ ปัจจุบันบริษัทฯ ยังอยู่ระหว่างติดตามงานโครงการใหม่อีกกว่า 700 ล้านบาท เช่น งานเสาเข็มโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน, รถไฟความเร็วสูง ไทย – จีน กรุงเทพ – นครราชสีมา สะท้อนภาพรวมงานโครงการขนาดใหญ่เริ่มเดินหน้า โดยเฉพาะเมกะโปรเจกต์ภาครัฐ ซึ่งบริษัทฯ ได้ปัจจัยบวกจากโรงงานที่มีอยู่ 9 แห่ง กระจายอยู่เกือบทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย และการก่อสร้างโรงงานแห่งที่ 10 ที่ชลบุรี สาขา 2 คาดว่าจะเริ่มผลิตในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 พร้อมรับคำสั่งซื้อจากโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ที่ปัจจุบันมีงานก่อสร้างขนาดใหญ่หลายโครงการ ส่งผลให้ความต้องการผลิตภัณฑ์คอนกรีตอัดแรงสูงกว่าภูมิภาคอื่น

Backlog ที่มีอยู่ตอนนี้ถือว่าอยู่ในระดับสูง แม้ที่ผ่านมาภาครัฐมีมาตรการคุมเข้มสถานการณ์โควิดโดยเฉพาะในกรุงเทพฯ และปริมณฑล แต่ยังมีงานส่วนใหญ่ที่เดินหน้าตามปกติในภูมิภาคอื่น และเริ่มเห็นสัญญาณบวกตั้งแต่ไตรมาส 3 ที่ผ่านมาได้ เนื่องจากโรงงานของบริษัทฯ ยังคงสามารถเดินหน้าผลิตสินค้า พร้อมทยอยส่งมอบในช่วงครึ่งปีหลัง รวมทั้งมาตรการความปลอดภัยขั้นสูงสุดในโรงงาน ควบคู่การติดตามสถานการณ์โควิดและปัจจัยภายนอกอย่างใกล้ชิด สนับสนุน STECH ในปี 2564 คาดจะเติบโตจากปีก่อนได้อย่างแน่นอน”  นายวัฒน์ชัย กล่าว

ทั้งนี้ ล่าสุด STECH รายงานผลประกอบการประจำไตรมาส 3/2564 (กรกฎาคม-กันยายน) มีรายได้จากการขายและบริการ 428.51 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30.62% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 328.06 ล้านบาท จากการส่งมอบงานในปริมาณที่สูงขึ้นทั้งภาครัฐบาลและเอกชน และมีรายได้รวมอยู่ที่ 428.51 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.32% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนมีรายได้รวมอยู่ที่ 362.15 ล้านบาท เนื่องจากในงวดไตรมาส 3 ของปีก่อน มีการรับรู้รายได้จากงานก่อสร้างโครงการเข้ามาเพิ่มเติม ขณะที่กำไรสุทธิ 40.71 ล้านบาท เพิ่มขึ้น  14.50% จากงวดเดียวกันของปีก่อน

ส่วนผลประกอบการงวด 9 เดือนแรกของปี 2564 มีรายได้จากการขายและบริการ 1,180.60 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.95% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 1,121.90 ล้านบาท และมีรายได้รวมที่ 1,180.60 ล้านบาท ลดลง 1.59% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 1,212.24 ล้านบาท ขณะที่กำไรสุทธิอยู่ที่ 94.47 ล้านบาท ลดลง 26.19% จากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 127.99 ล้านบาท  เนื่องจากในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ ยังไม่มีการรับรู้รายได้จากธุรกิจรับเหมางานก่อสร้างโครงการ ซึ่งจะเริ่มรับรู้รายได้ในช่วงปลายปี

“ภาพรวมไตรมาส 3 ปีนี้ รายได้จากการขายและบริการมีจำนวน 428.51 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 100.45 ล้านบาท จากงวดเดียวกันของปีก่อน หรือเพิ่มขึ้น 30.62% เนื่องจากมีการส่งมอบงานในปริมาณค่อนข้างสูงทั้งงานภาครัฐและเอกชนในเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา โดยทางราชการได้มีการผ่อนคลายให้เปิดงานก่อสร้างได้หลังถูกปิดเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19  ทั้งนี้ ในช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมา และช่วง 9 เดือนปีนี้ สิ้นสุด ณ 30 กันยายน 2564 บริษัทฯ ยังไม่มีรายได้จากธุรกิจงานรับเหมาก่อสร้างดังเช่น ปี 2563 อย่างไรก็ดี บริษัทได้ลงนามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างสายส่งระบบ 115 เควี เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2564 เป็นงานกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค รับจ้างเหมาก่อสร้างสายส่ง ระบบ 115 เควี สถานีไฟฟ้าสกลนคร 2 จังหวัดสกลนคร – สถานีไฟฟ้าศรีสงคราม จังหวัดนครพนม มูลค่างานเป็นจํานวนเงิน 97.97 ล้านบาท โดยมีแผนจะเริ่มงานภายในไตรมาส 4 ของปี 2564 มีระยะเวลาการทำงาน 1 ปี” นายวัฒน์ชัย กล่าวทิ้งท้าย

Back to top button