IRPC กางแผน 5 ปี ทุ่ม 4.3 หมื่นลบ. ลุย M&A-โครงการ UCF-ร่วมทุนธุรกิจใหม่

IRPC กางแผน 5 ปี (65-69) ทุ่ม 4.3 หมื่นลบ. ลุย M&A-โครงการ UCF-ร่วมทุนธุรกิจใหม่ พร้อมตรียมงบสำรอง 2 หมื่นลบ. รองรับธุรกิจใหม่รอความชัดเจน ตั้งเป้า EBITDA โตแตะ 3 หมื่นลบ. ปี 73


นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่  บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC  เปิดเผยว่า บริษัทได้วางงบลงทุนในช่วง 5 ปีข้างหน้า (ปี 65-69) จำนวน 4.3 หมื่นล้านบาท โดยในปี 65 จะใช้งบลงทุน 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นการจัดเตรียมเพื่อเข้าทำดีล M&A

อีกทั้งร่วมทุนในธุรกิจใหม่ที่มีความชัดเจนแล้วราว 8 พันล้านบาท หรือประมาณ 35-40% ของงบรวม และแบ่งไปลงทุนในโครงการ Ultra Clean Fuel (UCF) ราว 6 พันล้านบาท หรือ 30% ที่เหลือจะนำไปเป็นงบซ่อมบำรุงโรงกลั่นและโรงงานปิโตรเคมี ขณะเดียวกัน บริษัทยังจัดเตรียมงบสำรองอีก 2 หมื่นล้านบาท เพื่อรองรับธุรกิจใหม่อื่น ๆ ที่รอความชัดเจนอยู่

โดยปัจจุบัน IRPC อยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านวิสัยทัศน์ แนวทางการดำเนินธุรกิจจากธุรกิจปิโตรเคมีธุรกิจโรงกลั่นไปสู่เป็นองค์กรสร้างสรรค์นวัตกรรมการใช้วัสดุและพลังงานเพื่อชีวิตที่ลงตัว (To Shape Material and Energy Solutions in Harmony with Life) ที่เป็นทิศทางเมกะเทรนด์ของโลกที่จะทำให้ IRPC เติบโต ด้วยการต่อยอดการเติบโตจากกลุ่มธุรกิจในปัจจุบัน (Core Uplift) การลงทุนในกลุ่มธุรกิจข้างเคียง (Adjacent Business) และการสร้างธุรกิจใหม่ (Step Out Business) ซึ่งจะแนวทางเข้าร่วมทุน (JV) และซื้อกิจการ (M&A) ที่จะเป็นการสร้าง New S-Curve ของบริษัท

นอกจากนี้ บริษัทเตรียมความพร้อมสู่ธุรกิจพลังงานสะอาดมากขึ้น โดยวางเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas: GHG) ลง 20% ในปี 2573

นายชวลิต กล่าวว่า บริษัทมีเป้าหมายในช่วง 10 ปี หรือภายในปี 2573 จะมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เติบโตแตะ 30,000 ล้านบาท โดยครึ่งหนึ่งจะมาจากธุรกิจใหม่ โดยในช่วง 5 ปีนี้จะมี EBITDA ไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาท ซึ่งจะมีสัดส่วนจากธุรกิจใหม่ 1 ใน 3 ของ EBITDA ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เกิดความผันผวนตามราคาน้ำมัน

นายชวลิต กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการเข้าตรวจสอบสถานะกิจการ (Due Diligence) ของบริษัทที่จะเข้าซื้อกิจการ (M&A) คาดว่าจะได้ข้อสรุปในไตรมาส 1/65 และอีก 1 โครงการอยู่ระหว่างเจรจารูปแบบความร่วมมือกับบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยทั้ง 2 ดีลนี้เป็นพันธมิตรในประเทศทั้งหมด

“เรายัง Enjoy ธุรกิจเดิม และมีช่วงเวลาศึกษาธุรกิจใหม่ ต่อไปจะต้องทำยังไง กลางปี 65 น่าจะมีการศึกษาเริ่มแรกเพื่อดูภาพรวมใหญ่”นายชวลิต กล่าว

ทั้งนี้ โครงการที่ต่อยอดจากธุรกิจปัจจุบัน ได้แก่ โครงการปรับปรุงคุณภาพน้ำมันดีเซลตามมาตรฐาน ยูโร 5 (Ultra Clean Fuel Project: UCF) วงเงิน 1.33 หมื่นล้านบาท ตามนโยบายของภาครัฐ และจากแนวโน้มความต้องการที่สูงขึ้นของน้ำมันดีเซลกำมะถันต่ำ ทั้งภายในประเทศและภูมิภาคอาเซียน เพื่อลดปัญหามลภาวะฝุ่นละออง PM 2.5 คาดว่าจะสามารถดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2567 ตลอดจนการพัฒนาและการเพิ่มสัดส่วนการขายเม็ดพลาสติกชนิดพิเศษ (Specialty) จาก 20% ในปี 2564 เป็น 52% ในปี 2568 โดยบูรณาการกระบวนการทำงานเพื่อเพิ่มความเร็วในการเข้าตลาดและการตอบสนองต่อลูกค้า

ส่วนการลงทุนในกลุ่มธุรกิจข้างเคียง (Adjacent Business) ได้แก่ โครงการผลิตเม็ดพลาสติก พีพี เกรด เมลต์โบลน (PP Melt blown) และการร่วมทุนจัดตั้ง บริษัท อินโนโพลีเมด จำกัด เพื่อผลิตผ้าไม่ถักไม่ทอ (Non-woven Fabric) ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักสำคัญสำหรับผ้าชั้นกรองหน้ากากอนามัยหน้ากาก N95 ชุดกาวน์ และแผ่นกรองอากาศ เป็นต้น โดยตั้งเป้าหมายจะเป็นผู้ผลิตผ้าไม่ถักไม่ทอครบวงจรรายแรกของประเทศไทยที่พร้อมผลิตเชิงพาณิชย์ในเดือน ธ.ค.2564

นอกจากนี้ IRPC ยังได้ร่วมมือกับ ปตท.ในการศึกษาการผลิตถุงมือทางการแพทย์ โดยใช้ Nitrile Butadiene Latex (NBL) เป็นวัตถุดิบ ช่วยลดการนำเข้า จากต่างประเทศ และยกระดับด้านสาธารณสุข วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและอุปกรณ์ทางการแพทย์ของประเทศไทย สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาธุรกิจ New S-Curve กลุ่ม Life Science ของกลุ่ม ปตท. รวมถึงการจัดตั้ง “วชิรแล็บ” ห้องปฏิบัติการกลางเพื่อตรวจสอบมาตรฐานผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ครบวงจรแห่งแรกในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราชที่พร้อมเปิดให้บริการในเดือนธันวาคม 2021 ซึ่งจะช่วยส่งเสริมยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็น Medical Hub ของอาเซียน

ด้านการสร้างธุรกิจใหม่ (Step Out Business) ได้แก่ (1) การบ่มเพาะนวัตกรรมจากภายใน (Inside-out Innovation) หรือการทำ Corporate Startup เช่น การสร้างนวัตกรรมทางการเกษตร ซิงค์ออกไซด์นาโน (ZnO NANO) ที่พัฒนาต่อยอดมาจาก ซิงค์ออกไซด์ (ZnO) ที่ทำให้มีขนาดเล็กระดับอนุภาคนาโน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดูดซึมธาตุอาหารเข้าสู่ส่วนต่างๆ ของพืชได้ดียิ่งขึ้น ช่วยเพิ่มผลิตผลทางการเกษตรและปลอดภัยต่อทั้งเกษตรกรและสิ่งแวดล้อม

(2)การแสวงหานวัตกรรมจากภายนอก (Outside-in Innovation)ผ่านการลงทุนร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจ (Strategic Partner)และการลงทุนในธุรกิจเงินร่วมลงทุน หรือ Corporate Venture Capital (CVC) เพื่อแสวงหา Start up หรือเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการต่อยอดสู่ธุรกิจใหม่โดยการ M&A ที่นอกจากจะได้รับผลตอบแทนทางการเงินแล้ว บริษัทฯยังได้องค์ความรู้และเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์การดำเนินธุรกิจ New S-Curve อีกด้วย

สำหรับแนวโน้มผลการดำเนินงาน นายชวลิต กล่าวว่า ในไตรมาส 4/64 แนวโน้มราคาน้ำมันยังดีต่อเนื่องเพราะเข้าฤดูหนาวมีความต้องการใช้มากขึ้น แม้ได้รับแรงกดดันที่มีการปล่อยน้ำมันสำรองออกสู่ตลาด ทำให้ราคาน้ำมันลงมาช่วง 75-78 เหรียญ/บาร์เรล แต่คาดว่าในไตรมาส 4/64 ราคาน้ำมันน่าจะแกว่งตัวในระดบนี้ต่อไป

จากนั้นในปี 65 คาดว่าราคาน้ำมันจะอยู่ช่วง 65-68 เหรียญ/บาร์เรล ปัจจัยที่ทำให้ราคาปันผวนมาจากการเมืองระหว่างประเทศ นโยบายแต่ละประเทศ โดยจีนมีแผนปรับสัดส่วนการใช้พลังงานลดการใช้ถ่านหิน เปลี่ยนมาใช้น้ำมัน และก๊าซทดแทน ทั้งนี้ในปี 65 คาดว่าจะมีกำลังการกลั่นอยู่ที่ 1.85-1.90 แสนบาร์เรล/วันใกล้เคียงกับปี 64

ส่วนธุรกิจปิโตรเคมีในปี 64 ดีขึ้นมาก แต่คาดว่าส่วนต่างราคา(สเปรด)จะปรับตัวลงมาสู่ปกติในปี 65  อย่างไรก็การบริโภคจะเติบโตตามเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว โดย GDP ของโลกในปีหน้าคาดว่าอยู่ที่ 5% จากปีนี้ 1% ส่วน GDP ของไทยปีหน้าจะเติบโตราว 4.5% โดยมองว่า ตลาดเอเชียกลับมาฟื้นตัวได้ดี โดยเฉพาะในจีนและอินเดีย

Back to top button