5 ผู้ผลิตวัคซีนโควิด เร่งพัฒนาสูตรต้าน “โอไมครอน” หลังติดเชื้อลามหลายประเทศ

5 ผู้ผลิตวัคซีนโควิด-19 เร่งพัฒนาสูตรต้านไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ “โอไมครอน” หลังเชื้อไวรัสลุกลามหลายประเทศ ทั้งในสหราชอาณาจักร อิตาลี เยอรมนี เบลเยียม อิสราเอล และฮ่องกง


ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวันนี้ (28 พ.ย. 64) มีการยืนยันพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์นี้แล้วในสหราชอาณาจักร อิตาลี เยอรมนี เบลเยียม อิสราเอล และฮ่องกง รวมถึงอาจพบผู้ติดเชื้อในสาธารณรัฐเช็กและเนเธอร์แลนด์โดยไวรัสกลายพันธุ์นี้ถูกพบครั้งแรกในแอฟริกาใต้ ก่อนลุกลามขยายวงกว้างยิ่งขึ้น

โดยบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีของอังกฤษ แถลงมาตรการใหม่ต่างๆ นานาเพื่อควบคุมไวรัสตัวนี้ ในขณะที่มีประเทศต่างๆ เพิ่มเติมข้อจำกัดด้านการเดินทางที่มาจากภูมิภาคทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกา

ทั้งนี้ การพบตัวกลายพันธุ์ใหม่นี้สร้างความกังวลทั่วโลก มีคำสั่งห้ามการเดินทางหรือข้อจำกัดต่างๆ ออกมา และก่อให้เกิดแรงเทขายในตลาดทุนเมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2564 ในขณะที่พวกนักลงทุนกังวลว่า “โอไมครอน” อาจฉุดรั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก หลังจากโรคระบาดใหญ่เล่นงานมาเกือบ 2 ปี

สำหรับเคสผู้ติดเชื้อ 2 รายในสหราชอาณาจักรที่เชื่อมโยงกับตัวกลายพันธุ์ใหม่ เกี่ยวข้องกับการเดินทางไปยังทางใต้ของทวีปแอฟริกา จากการเปิดเผยของซาจิด จาวิด รัฐมนตรีสาธารณสุข

อีกทั้งในเวลาต่อมา นายกรัฐมนตรีจอห์นสัน เปิดเผยมาตรการต่างๆ รวมถึงยกระดับตรวจเชื้อเข้มข้นขึ้นสำหรับคนที่เดินทางเข้าประเทศ แต่ยังไม่ถึงขั้นกำหนดข้อจำกัดกิจกรรมต่างๆ ทางสังคม ยกเว้นแต่บังคับสวมหน้ากากในบางสถานที่

นอกจากนี้แล้ว จอห์นสัน กล่าวว่า บุคคลใดที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อตัวกลายพันธุ์โอไมครอนจะต้องกักโรคตนเองเป็นเวลา 10 วัน และรัฐบาลจะยกระดับกฎระเบียบสวมหน้ากากปกปิดใบหน้า และมาตรการต่างๆ เหล่านี้จะมีการทบทวนอีกครั้งใน 3 สัปดาห์

ส่วนทางด้านกระทรวงสาธารณสุขในรัฐบาวาเรียของเยอรมนี ก็แถลงเช่นกันยืนยันพบเคสผู้ติดเชื้อตัวกลายพันธุ์โอไมครอน 2 ราย โดยทั้ง 2 คนได้เดินทางเข้าสู่เยอรมนีที่สนามบินเมืองมิวนิคในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 ก่อนหน้าที่เยอรมนีจะกำหนดให้แอฟริกาใต้เป็นพื้นที่ของตัวกลายพันธุ์ไวรัสและจำเป็นต้องกักโรค ซึ่งจากการเปิดเผยของกระทรวงสาธารณสุข แต่ยังไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนว่าบุคคลทั้ง 2 เดินทางมาจากแอฟริกาใต้

ทั้งนี้ ในอิตาลี ทางสถาบันสาธารณสุขแห่งชาติ ระบุว่า พบเคสผู้ติดเชื้อตัวกลายพันธุ์ใหม่นี้ในเมืองมิลาน ในบุคคลที่เดินทางมาจากโมซัมบิก

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขสาธารณรัฐเช็ก เปิดเผยเช่นกันว่า กำลังอยู่ระหว่างตรวจสอบเคสต้องสงสัยตัวกลายพันธุ์โอไมครอน ในบุคคลที่เคยไปอยู่ในนามิเบีย ก่อนที่โรงพยาบาลท้องถิ่นในเมืองลิเบเรช ยืนยันในเวลาต่อมาว่าคนไข้หญิงรายดังกล่าวติดเชื้อโควิด-19 ตัวกลายพันธุ์โอไมครอน

โดยทางกระทรวงสาธารณสุขเดนมาร์กเปิดเผยในวันที่ 27พ.ย. 2564 ว่ามีความเป็นไปได้ที่พวกเขาจะพบเชื้อตัวกลายพันธุ์โอไมครอนในบุคคล 2 รายที่เดินทางมาจากแอฟิกาใต้ ซึ่งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมีเหตุผลให้ต้องสงสัยว่ามีเคสผู้ติดเชื้อตัวกลายพันธุ์ใหม่โอไมครอน 2 เคสแรกในเดนมาร์ก

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2564 องค์การอนามัยโลก (WHO) ตั้งชื่อโควิด-19 ตัวกลายพันธุ์ B.1.1.529 ที่พบในภูมิภาคแอฟริกาตอนใต้ว่า “โอไมครอน” โดยเป็นการเรียกชื่อตามลำดับอักษรกรีก พร้อมประกาศให้เป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล(variant of concern) เนื่องจากมีแนวโน้มแพร่กระจายได้เร็วกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้า แม้บรรดาพวกผู้เชี่ยวชาญยังไม่ทราบแน่ชัดว่ามันจะก่ออาการรุนแรงหรือเบากว่าเมื่อเทียบกับสายพันธุ์อื่นๆ

โดยคริส วิทตี หัวหน้าเจ้าหน้าที่การแพทย์ของอังกฤษระบุในการแถลงข่าวเดียวกันกับจอห์นสัน ว่ายังคงมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับตัวกลายพันธุ์โอไมครอน แต่มีโอกาสพอสมควรที่อย่างน้อยๆ ตัวกลายพันธุ์นี้จะสามารถหลบหลีกวัคซีนได้ระดับหนึ่ง

สำหรับบริษัท Moderna ผู้ผลิตวัคซีนของสหรัฐฯ แจ้งว่า ได้ดำเนินยุทธศาสตร์แบบครอบคลุม เพื่อพยากรณ์ไวรัสสายพันธุ์น่ากังวลมาตั้งแต่ต้นปีแล้ว ประกอบด้วยการเพิ่มปริมาณวัคซีนเข็มกระตุ้นภูมิจาก 50 ไมโครกรัมเป็น 100 ไมโครกรัม การศึกษาเรื่องฉีควัคซีนเข็มกระตุ้นภูมิ 2 เข็มเพื่อป้องกันการกลายพันธุ์ดังที่พบในไวรัสสายพันธุ์โอไมครอน และจะเร่งพัฒนาวัคซีนเข็มกระตุ้นภูมิที่สามารถป้องกันสายพันธุ์โอไมครอนได้โดยเฉพาะ ในขณะที่ Johnson&Johnson ของสหรัฐฯ ชี้แจงว่า ได้เริ่มการทดสอบประสิทธิภาพวัคซีนกับไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนแล้ว

ส่วนทางด้านบริษัท Pfizer ของสหรัฐฯ และ BioNTech ของเยอรมนีเปิดเผยว่า คาดว่าจะเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสายพันธุ์โอไมครอนได้ภายใน 2 สัปดาห์ เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจว่าจะต้องปรับปรุงวัคซีนที่ใช้อยู่ในปัจจุบันหรือไม่ หากต้องปรับปรุงก็พร้อมจะจัดส่งวัคซีนป้องกันสายพันธุ์โอไมครอนได้โดยเฉพาะภายในเวลาประมาณ 100 วัน

ส่วนทิศทางการเคลื่อนไหวของโนวาแวกซ์มีขึ้นในขณะที่ผู้ผลิตวัคซีนรายอื่นๆของโลก อย่างไบออนเทคของเยอรมนี และจอห์นสันแอนด์จอห์นสันของสหรัฐ ระบุว่า กำลังทดสอบประสิทธิภาพของวัคซีนต้านโควิด-19 ที่มีในปัจจุบันกับเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนด้วยเช่นกัน

สำหรับวัคซีนของโนวาแวกซ์มีหนามโปรตีนของไวรัสในรุ่นปัจจุบัน ซึ่งไม่ได้ทำให้เกิดโรคแต่สามารถกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันได้ โดยโนวาแวกซ์ระบุว่า ได้เริ่มพัฒนาหนามโปรตีนที่มีพื้นฐานเป็นเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน หรือ B.1.1.529.โดยเฉพาะแล้ว

นอกจากนี้ บริษัทอินโนวิโอ ฟาร์มาซูติคอล อิงค์ ผู้ผลิตวัคซีนจากสหรัฐอีกราย ก็ระบุว่า ได้เริ่มทดสอบวัคซีนต้านโควิด INO-4800 ของบริษัทเพื่อประเมินประสิทธิภาพที่มีต่อโรคโควิด-19สายพันธุ์ใหม่ โดยบริษัทคาดว่าการทดสอบจะใช้เวลาประมาณสองสัปดาห์ และบริษัทยังพัฒนาวัคซีนตัวใหม่สำหรับป้องกันเชื้อโอไมครอนโดยเฉพาะด้วย

Back to top button