“สรท.” ปรับคาดการณ์ส่งออกปีนี้โต 15% ปี 65 ขยายตัว 5-8%

“สรท.” ปรับคาดการณ์การส่งออกปีนี้โต 15% หลัง 10 เดือนแรกปีนี้ขยายตัว 15.65% พร้อมคาดปี 65 โต 5-8%


นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือ สภาผู้ส่งออก กล่าวว่า  สรท. ปรับคาดการณ์การส่งออกไทยในปี 64 ลุ้นเติบโตถึง 15% และคาดการณ์ปี 65 โต 5-8% (ณ เดือนธันวาคม 2564) โดยกำลังรอลุ้นยอดการส่งออกในปีนี้ว่าจะขยายตัวได้ 15-16% หรือไม่ หลังจากยอดส่งออกในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ต.ค.64) มีอัตราขยายตัวที่ 15.65%

ขณะที่สถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้ายังมีอัตราการเติบโตดี และมียอดสั่งซื้อ ซึ่งคาดว่ายอดส่งออกในเดือน พ.ย.-ธ.ค.64 จะมีมูลค่าราว 2.1-2.2 หมื่นล้านดอลลาร์/เดือน

“ตอนนี้อยู่ในกระเป๋าแน่ๆ แล้ว 12% ส่วนจะโต 13-14% ก็มีความเป็นไปได้ แต่ตอนนี้กำลังลุ้นว่าจะโตถึง 15% หรือไม่ หลังจากประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์หลังพบผู้ติดเชื้อโอมิครอนแล้ว ขณะที่ยอดนำเข้าในเดือน ต.ค.64 ที่มีมูลค่า 2.3 หมื่นล้านดอลลาร์ ขยายตัว 34.6% และมียอดสั่งซื้อแล้ว แต่ห่วงปัญหาเรือระวางเรือ” นายชัยชาญ กล่าว

โดยปัจจัยปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญในปี 64 ได้แก่ 1.ความกังวลต่อสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ “โอไมครอน” ซึ่ง WHO จัดให้อยู่ในกลุ่มสายพันธุ์ที่น่าห่วงกังวล และเริ่มมีการแพร่กระจายในหลายประเทศ อาทิ เบลเยี่ยม เยอรมัน อิตาลี เชค ออสเตรเลย ฮ่องกง สหรัฐฯ อังกฤษ ซึ่งยังคงมีตัวเลขผู้ติดเชื้อในระดับสูง ขณะที่หลายประเทศเริ่มกลับมาจำกัดการเดินทางเข้าออกประเทศโดยเฉพาะผู้ที่เดินทางมาจากแอฟริกา และมีความเป็นไปได้ที่หลายประเทศอาจจะล็อคดาวน์อีกครั้งซึ่งสวนทางกับช่วงเศรษฐกิจกำลังเร่งฟื้นตัว,2.แรงงานในภาคการผลิตขาดแคลนต่อเนื่อง ประกอบกับต้นทุนการจ้างงานปรับตัวสูงขึ้น กระทบการผลิตเพื่อส่งออกที่กำลังฟื้นตัวจากโควิด

3.ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ตกค้าง ณ ท่าเรือปลายทาง โดยเฉพาะท่าเรือ Los Angeles และ Long Beach ที่พบปัญหาความหนาแน่นภายในท่าเรือ ทำให้ต้องใช้ระยะเวลานานในการขนถ่ายสินค้า รวมถึงปัญหา Space allocation ไม่เพียงพอ ทำให้ไม่สามารถจองระวางและส่งสินค้าได้ทันตามกำหนด ตลอดจนค่าระวางเรือยังคงสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะสหภาพยุโรป สหรัฐฯ รวมถึงจีนที่มีการเร่งนำเข้าสินค้าในทันช่วงเทศกาลคริสต์มาสและตรุษจีน ส่งผลให้บางสายการเดินเรือต้องหยุดให้บริการจองระวางชั่วคราว ส่งผลต่อภาระต้นทุนการขนส่งสินค้าที่ผู้ส่งออกต้องจ่ายเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว และมีแนวโน้มที่จะทรงตัวสูงยาวจนถึงปี 2565 และ 4.ปัญหาวัตถุดิบขาดแคลนและราคาผันผวน อาทิ เซมิคอนดักเตอร์, เหล็ก, น้ำมัน ส่งผลให้ภาคการผลิตเพื่อส่งออก ยังคงประสบปัญหาอย่างต่อเนื่อง

Back to top button