DMT มองผลงาน Q4 ฟื้น โชว์ฐานะการเงินแกร่ง เล็งปันผลปีหน้า 0.5 บ.

DMT ประเมินผลงานไตรมาส 4 ฟื้นจากจุดต่ำสุด โชว์ฐานะการเงินแกร่ง-แผนลดต้นทุนต่อเนื่อง เล็งปันผลปี 65 ที่ 0.5 บ./หุ้น


นายธานินทร์ พานิชชีวะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) หรือ DMT กล่าวว่า บริษัทคาดผลการดำเนินงานไตรมาส 4/64 จะปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 3/64 หลังผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว เนื่องจากภาครัฐมีการประกาศเปิดประเทศและผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ส่งผลดีต่อบรรยากาศการเดินทางกลับมาดีขึ้น โดยบริษัทฯ มั่นใจว่าจะสามารถจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในปีนี้ที่ 0.3 บาท/หุ้น ซึ่งที่ผ่านมาได้จ่ายปันผลไปแล้วที่ 0.07 บาท/หุ้น

ทั้งนี้ แนวโน้มการดำเนินงานในปี 65 หากมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 หรือโอมิครอนจนต้องมีการล็อกดาวน์อีก บริษัทมั่นใจว่าจะผ่านพ้นวิกฤตไปได้อีกครั้ง เนื่องจาก DMT ไม่มีหนี้แล้ว ขณะเดียวกันก็ยังคงมุ่งเน้นการลดต้นทุนอย่างต่อเนื่อง ทำให้บริษัทจะสามารถจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในปีหน้าได้ โดยหากมีการล็อกดาวน์ 1 ครั้ง คาดว่าจะจ่ายเงินปันผลได้ราว 0.5 บาท/หุ้น และหากมีการล็อกดาวน์ 2 ครั้ง ก็จะจ่ายปันผลได้ราว 0.2-0.3 บาท/หุ้น

พร้อมกันนี้ในปี 65 บริษัทอยู่ระหว่างติดตามงาน ได้แก่ โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต-บางปะอิน (M5) คาดว่าภาครัฐจะมีหนังสือเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนในปีหน้า, โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว (M82) ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งเป็นอีกโครงการหนึ่งที่ภาครัฐจะเปิดให้เอกชนเข้าไปบริหารจัดการ, โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 8 สายนครปฐม-ชะอำ (M8) ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการออกแบบกรอบรายละเอียดและการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) คาดว่าจะมีหนังสือเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนในปี 65-66

รวมถึงโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ทางยกระดับสายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ช่วงบางขุนเทียน-บางบัวทอง (M9) ปัจจุบันอยู่ระหว่างเสนอขออนุมัติรูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุน คาดว่าจะดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในปี 65 และเริ่มก่อสร้างได้ในปี 66 และเปิดให้บริการปี 68 และโครงการทางพิเศษ (ทางด่วน) สายกะทู้-ป่าตอง จ.ภูเก็ต คาดว่าไตรมาส 1/65 จะออกหนังสือเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนได้

สำหรับธุรกิจไม่เก็บค่าผ่านทาง (Non Toll Business) บริษัทอยู่ระหว่างศึกษานำเอาบริการระบบขนส่งเสริม (Feeder System) เพื่อรองรับรถไฟสายสีแดง และตอบสนองความต้องการคนในพื้นที่ได้อย่างไร รวมถึงการร่วมประมูลที่พักริมทาง (Rest Area) บนโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6), ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 81 สายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81) และทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 สายกรุงเทพฯ-บ้านฉาง

Back to top button