“เฮียฮ้อ” ยัน “POPCOIN” ไม่กระทบแน่! เหตุเป็นเหรียญ “ยูทิลิตี้” ไม่เข้าข่ายเกณฑ์กำกับ

“เฮียฮ้อ” ยัน “POPCOIN” ไม่กระทบแน่! เหตุเป็นเหรียญ “ยูทิลิตี้” ไม่เข้าข่ายเกณฑ์กำกับการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางการชำระค่าสินค้าและบริการ


สืบเนื่องจากวานนี้ (26 ม.ค.2565) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีการหารือร่วมกันถึงประโยชน์และความเสี่ยงของสินทรัพย์ดิจิทัล และเห็นความจำเป็นในการกำกับดูแลและควบคุมการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ (Means of Payment) เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินและระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยเบื้องต้นประกอบด้วย 6 มาตรการดังนี้

1.ไม่โฆษณาเชิญชวน หรือแสดงตนว่าพร้อมให้บริการแก่ร้านค้าเพื่อให้ร้านค้าสามารถรับชำระค่าสินค้าหรือบริการด้วย Digital Asset ได้

2.ไม่จัดทำระบบ หรือเครื่องมือที่อำนวยความสะดวกใด ๆ แก่ร้านค้า ในการรับชำระด้วย Digital Asset

3.ไม่ให้บริการเปิดกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (wallet) แก่ร้านค้า เพื่อรับชำระค่าสินค้าหรือบริการด้วย Digital Asset

4.ในกรณีที่ผู้ซื้อขายทำการขาย Digital Asset เพื่อรับเป็นเงินบาท ผู้ประกอบการต้องโอนเงินบาทเข้าบัญชีผู้ซื้อขายเท่านั้น

5.ไม่ให้บริการที่มีลักษณะเป็นการโอน Digital Asset/เงิน จากบัญชีของผู้ซื้อขาย ไปยังบัญชีของรายอื่นหรือบุคคลอื่นใด เพื่อวัตถุประสงค์ของการรับชำระค่าสินค้าหรือบริการ

6.ไม่ดำเนินการในลักษณะอื่นใดนอกเหนือจาก 1-5 ที่เป็นการสนับสนุนหรือส่งเสริมให้เกิดการนำ Digital Asset มาใช้เป็นการชำระค่าสินค้าและบริการ(Means of Payment)

ทั้งนี้หากพบว่าผู้ซื้อขายนำบัญชี Digital Asset ไปใช้ในการรับชำระค่าสินค้าและบริการ ผู้ประกอบการต้องแจ้งเตือนและพิจารณาดำเนินการกับผู้ซื้อขาย Digital Asset ที่ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการให้บริการ เช่น ยกเลิกการให้บริการซื้อขาย Digital Asset หรือระงับบัญชี

โดยจะเปิดรับฟังความคิดเห็น (Hearing) ร่างหลักเกณฑ์ดังกล่าวตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 8 ก.พ.2565 เพื่อรวบรวมความคิดเห็น โดยในกรณีที่ข้อเสนอแนะกระทบต่อหลักการก็จะมีการเสนอบอร์ด ก.ล.ต.เพื่อพิจารณาต่อไป ซึ่งอาจต้องใช้เวลา แต่ในกรณีที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ก.ล.ต.จะดำเนินการออกประกาศและบังคับใช้ได้ภายในเร็วๆ นี้

ทั้งนี้ปัจจุบันสินทรัพย์ดิจิทัลภายใต้การประกอบธุรกิจมีหลากหลายประเภท แต่ก.ล.ต.ให้การสนับสนุน  2 ประเภท คือ 1. โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (Investment Token) เป็นเหรียญดิจิทัลที่ให้สิทธิในการเข้าร่วม ลงทุนในโครงการหรือกิจการใดๆ

รวมทั้ง 2. โทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ (Utility Token) เป็นเหรียญดิจิทัลที่ให้สิทธิแก่ผู้ถือในการได้มาซึ่งสินค้า บริการ หรือสิทธิอื่นใดที่เฉพาะเจาะจง โดยแบ่งเป็น Utility Token พร้อมใช้ ผู้ถือเหรียญสามารถใช้สิทธิแลกสินค้าหรือใช้บริการได้ทันที ตั้งแต่วันที่เสนอขายครั้งแรก และ Utility Token ไม่พร้อมใช้ ผู้ถือเหรียญจะยังไม่สามารถใช้สิทธิแลกหรือใช้ประโยชน์

ด้าน นายสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) หรือ RS เปิดเผยว่า มาตรการดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อเหรียญ Popcoin เนื่องจากเป็น Utility Token และเป็นสื่อกลางในการเข้าถึงคอนเทนต์ด้านสื่อและบันเทิงต่างๆ ผ่านทาง Popcoin Application สมาร์ท มาร์เก็ตติ้ง แพล็ตฟอร์ม ทั้งในส่วนของผู้บริโภค แบรนด์ และผู้ผลิตคอนเทนต์ อีกทั้งโทเคนดิจิทัลประเภท Utility Token เป็นโทเคนที่ทางก.ล.ต.ให้การสนับสนุน

Back to top button