MAKRO เดินหน้าหนุนเอสเอ็มอี ลุย “ออนไลน์” รับยุคดิจิทัล หลังปี 64 กวาดรายได้ 2.7 แสนลบ.

MAKRO เดินหน้าเดินหน้าพัฒนาแพลตฟอร์มแห่งโอกาสหนุน SME พร้อมชูธงตลาด “ออนไลน์” รับยุคดิจิทัล หวังหนุนรายได้-กำไรปี 65 เติบโตอย่างแข็งแกร่ง หลังโชว์ผลงานปี 64 ทำรายได้รวม 2.7 แสนลบ. เติบโต 21.8%


นางเสาวลักษณ์ ถิฐาพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกลุ่มธุรกิจค้าส่งแม็คโคร สายงาน Group Shared Service บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) หรือ MAKRO เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานในช่วงปี 2564 สามารถสร้างการเติบโตทั้งรายได้และกำไร ในระดับที่ดี ถึงแม้ว่าภาพรวมของเศรษฐกิจและกำลังซื้อของผู้บริโภคจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกใหม่และการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส COVID-19 ในรอบปีที่ผ่านมา โดยทำรายได้รวม 266,435 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21.8% จากปีก่อนที่มีรายได้รวม 218,760 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิทั้งสิ้น 13,687 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 108.6% จากปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 6,563 ล้านบาท

สำหรับผลการดำเนินงานดังกล่าว ตอกย้ำถึงความแข็งแกร่งและศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งการปรับกลยุทธ์อย่างรวดเร็ว เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วงเวลา จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 โดยมุ่งเน้นการบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบกับการจัดกิจกรรมทางการตลาดที่สอดคล้องกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายหลังรัฐบาลผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ นอกจากนี้ ‘แม็คโคร’ เริ่มรับรู้รายได้จากกลุ่มโลตัสตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2564 หลังรับโอนกิจการแล้วเสร็จในวันดังกล่าว

โดยล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ มีมติเสนอต่อที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2565 เพื่ออนุมัติจ่ายเงินปันผลแก่ผู้ถือหุ้นจากผลการดำเนินงานปี 2564 ในอัตรา 0.72 บาทต่อหุ้น รวมเป็นเงิน 5,306 ล้านบาท โดยเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2564 ได้จ่ายเงินปันผลระหว่างกาลไปแล้วในอัตรา 0.40 บาทต่อหุ้น คงเหลือต้องจ่ายเงินปันผลอีกในอัตรา 0.32 บาทต่อหุ้น โดยกำหนดวัน Record Date ในวันที่ 4 มีนาคม นี้ และจะจ่ายเงินปันผลส่วนที่เหลือในวันที่ 19 พฤษภาคม 2565 ทั้งนี้ สิทธิในการรับเงินปันผลดังกล่าวของทางบริษัทฯ ต้องรอการอนุมัติจากที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2565

“หลังจากแม็คโครรับโอนกิจการกลุ่มโลตัสส์ทำให้มีธุรกิจครอบคลุมทั้งการค้าส่งแบบ B2B (Business to Business หรือการค้ากับผู้ประกอบการ) และค้าปลีกแบบ B2C (Business to Consumer หรือการค้ากับผู้บริโภค) รวมถึงมีรายได้จากพื้นที่เช่าเพิ่มขึ้น โดยจะใช้จุดแข็งของทั้งแม็คโครและโลตัสส์ ที่มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจทั้งค้าส่งและค้าปลีก ขยายฐานธุรกิจในเอเชียใต้และอาเซียน เพื่อเติบโตต่อไปในระดับภูมิภาค” นางเสาวลักษณ์ กล่าว

ทั้งนี้ แผนยุทธศาสตร์ที่สำคัญคือการพัฒนา ‘แพลตฟอร์มแห่งโอกาส’ เพื่อสนับสนุน SME ผู้ประกอบการรายย่อยและเกษตรกร ผ่านช่องทางจำหน่ายในทุกรูปแบบ พร้อมสนับสนุนส่งเสริมในด้านการพัฒนามาตรฐานการผลิตและเทคโนโลยี เพื่อยกระดับสินค้าไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล

ขณะเดียวกันได้เดินหน้าภารกิจ Digital Transformation อย่างต่อเนื่องเพื่อพลิกโฉมธุรกิจสู่ยุคดิจิทัล รองรับพฤติกรรมผู้บริโภคและ ผู้ประกอบการในยุคปัจจุบัน โดยการผสมผสานและพัฒนาช่องทางการขายสินค้าออฟไลน์และออนไลน์ (offline and online หรือ O2O) อย่างไร้รอยต่อ การพัฒนาแพลตฟอร์มตลาดซื้อขายออนไลน์ (Marketplace) เพื่อเพิ่มช่องทางแห่งโอกาสให้กับ SME และเกษตรกร รวมถึงลงทุนด้านบิ๊กดาต้าเพื่อวิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้าและนำมาปรับใช้ในการพัฒนาธุรกิจ

นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้ให้ความสำคัญและยึดมั่นการดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาล (ESG) อาทิ การสนับสนุนผลผลิตจากเกษตรกรไทยเพื่อสร้างรายได้สู่ท้องถิ่น เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การฝึกอบรมเพื่อเพิ่มศักยภาพแก่ผู้ประกอบการ ฯลฯ

ทั้งนี้ ในช่วงเวลาที่ผ่านมาแม็คโคร ได้ขยายสาขาในประเทศเพิ่มอีก 4 แห่ง ได้แก่ สาขาสุขุมวิท 22, สาขาลำลูกกา จ.ปทุมธานี, สาขาถนนจันทน์ และ สาขาแพรกษา จ.สมุทรปราการ ส่งผลให้ปัจจุบันแม็คโครมีสาขาในประเทศไทยรวม 144 แห่ง ขณะที่กลุ่มโลตัสประเทศไทย ปัจจุบันมีสาขาจำนวนกว่า 2,600 สาขา โดยคาดว่าในปี 2565 นี้ ทั้งสองกลุ่มจะมีการขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง

Back to top button