เปิด 22 รายชื่อหุ้น mai ผลงานปี 64 “เทิร์นอะราวด์” ลุ้นปีนี้โตแรง!

เปิด 22 รายชื่อหุ้น mai ผลงานปี 64 “เทิร์นอะราวด์” ลุ้นปีนี้โตแรง! MORE-EFORL-IMH-AIRA-NCL นำทีมเด่น


“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ทำการรวบรวมข้อมูลหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ  (mai) ที่ประกาศงบการเงินปี 2564 มานำเสนอ โดยครั้งนี้คัดเลือกหุ้นมีพลิกมีกำไร (เทิร์นอะราวด์) และลุ้นผลงานปี 2565 โตเด่นต่อเนื่อง

โดยครั้งนี้มีหุ้นทั้งหมด 22 ตัว ได้แก่  MORE, EFORL, IMH, AIRA, NCL, NEWS, PPM, OTO, MVP, NINE, FVC, THANA, TVT, UREKA, PPS, HPT, SANKO, SSS, SLM, CRD, SALEE,THMUI โดยเรียงอันดับกำไรมากสุดไปหาน้อยสุด ซึ่งจะนำเสนอข้อมูลประกอบเพียง 5 อันดับ ดังตารางประกอบดังนี้

อันดับ 1 บริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) หรือ MORE รายงานผลประกอบการงวดปี 2564 มีกำไรสุทธิ 1,158.67  ล้านบาท เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนขาดทุนสุทธิ 47.22 ล้านบาท  เนื่องจากบริษัทมีรายได้จากการขายและบริการรวมจำนวน 127.72 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับงบการเงินงวดเดียวกันของปี 2563 โดยส่วนใหญ่มาจากธุรกิจให้บริการด้านบุคลากร,ธุรกิจจำหน่ายน้ำประปา และรายได้จากธุรกิจจำหน่ายผลิตภัณฑ์สมุนไพร

นอกจากนี้บริษัทได้มีการจำหน่ายเงินลงทุนในบริษัทย่อย โดยบริษัทได้รับหุ้นสามัญแทนการชำระด้วยเงินสด เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2564 ซึ่งทำให้มีกำไรจากการขายเงินลงทุนดังกล่าว จำนวน 1,054.50 ล้านบาท

อันดับ 2 บริษัท อี ฟอร์ แอล เอม จำกัด (มหาชน) หรือ EFORL รายงานผลประกอบการงวดปี  2564 มีกำไรสุทธิ 812.03  ล้านบาท  เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนขาดทุนสุทธิ 299.07 ล้านบาท  เนื่องจากรายได้จากการขายและบริการสำหรับปี 2564  เท่ากับ 2,165 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ30 โดยรายได้ที่เกิดขึ้นจะเป็นการเพิ่มขึ้นของธุรกิจเครื่องมือแพทย์เป็นหลัก

โดยในปี 2564 บริษัทสามารถทำรายได้จากเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์สูงสุดจากที่ผ่านมา (New High) โดยรายได้จากการขายและบริการเครื่องแพทย์ปี 2564 มีจำนวน 2,163 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 32 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน เนื่องจากผลกระทบของสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้สินค้าเกี่ยวกับเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์มีความต้องการจำนวนมากส่งผลเชิงบวกต่อบริษัทอย่างต่อเนื่อง

 

อันดับ 3 บริษัท โรงพยาบาลอินเตอร์เมดิคัล แคร์ แอนด์ แล็บ จำกัด (มหาชน) หรือ IMH รายงานผลประกอบการงวดปี  2564 มีกำไรสุทธิ 422.70 ล้านบาท  เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนขาดทุนสุทธิ 16.61 ล้านบาท

ดร.สิทธิวัตน์ กำกัดวงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร IMH เปิดเผยว่า บริษัทยังคงเดินหน้าสู้ศึก “โคมิครอน” อย่างต่อเนื่อง ทั้งการตรวจเชื้อโควิด (ATK, PCR) และการรักษาคนไข้โควิดแบบครบวงจร (One stop service)

โดยล่าสุด IMH ได้เจรจากับ supplier เพื่อนำเข้าชุดตรวจโควิดรุ่นใหม่ “Flowflex” ATK 2-in-1 ซึ่งสามารถใช้ตรวจได้ทั้งทาง “โพรงจมูก และ น้ำลาย” มีความไว (Sensitivity) ในการตรวจพบเชื้อ “โอมิครอน” และสามารถตรวจพบเชื้อได้แม้เชื้อมีความเข้มข้นต่ำ ซึ่งเป็นนวัตกรรมทางการแพทย์ใหม่ที่จะช่วยผู้ใช้งานตรวจพบเชื้อ “โอมิครอน” ได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว

ดร.สิทธิวัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โดยรวมแล้วกลุ่ม IMH คาดว่า Flowflex ATK 2-in-1 รุ่นใหม่ จะช่วยสร้างช่องทางรายได้จากยอดขายชุดตรวจดังกล่าวเข้ามาเพิ่มไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท จึงส่งผลให้บริษัทฯยิ่งตอกย้ำความมั่นใจว่าภายในปี2565 กลุ่ม IMH จะมีโอกาสสร้างอัตราการเติบโตของรายได้รวมกว่า 1,200 ล้านบาท พร้อมทั้งเชื่อมั่นว่าจะสามารถบริหารต้นทุนรวมให้ต่ำลงเมื่อเทียบกับช่วงปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลมาจากประสบการณ์ในการบริหารโรงพยาบาลที่เพิ่มมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม สำหรับการเติบโตของกลุ่ม IMH ยังไม่รวมดีลโครงการก่อสร้าง “โรงพยาบาล IMH แบริ่ง” ขนาด 600 เตียง อยู่บนพื้นที่ดินทำเลทอง 12 ไร่ ติดสถานีรถไฟฟ้า BTS แบริ่ง ซึ่งเป็นโครงการฯที่จะระดมทุน จาก IPO ของโรงพยาบาล ประชาพัฒน์  โดยรพ.ดังกล่าวคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในไตรมาส 1/2568 โดยจะเน้นเจาะกลุ่มลูกค้ากลาง-สูง โซนกรุงเทพใต้ และจังหวัดสมุทรปราการ

ด้านนักวิเคราะห์ประเมินว่าที่ผ่านมากลุ่ม IMH ได้รับอานิสงส์จากการตรวจและรักษาโควิด รวมถึงผลจากการควบรวมกิจการ (M&A) และมีมุมมองเป็นบวกต่อ ดีลโครงการก่อสร้าง “โรงพยาบาล IMH แบริ่ง” 600 เตียง ที่จะอัพเกรดให้ IMH เป็นโรงพยายาลขนาดใหญ่และขยาย ฐานรายได้ให้บริษัท

โดยมูลค่าพื้นฐานปี 2565 ยังไม่รวมมูลค่า “โรงพยาบาล IMH แบริ่ง” อยู่ที่ 28.00 บาท/หุ้น ขณะเดียวกัน หากรวมมูลค่าโครงการ “ดังกล่าว แล้วคาดว่าฐานรายได้ของกลุ่ม IMH จะปรับเพิ่มขึ้นในปี 2568 ราว 2,200 ล้านบาท ขณะที่ไปเทียบกับหุ้นรพ.ขนาดใหญ่อื่นๆ เทรด P/E ปี 65 เฉลี่ยที่ 24.5 เท่า แต่หากประมาณแบบอนุรักษ์นิยม โดยอิง P/E ที่ 20 เท่า ราคาเหมาสมปรับขึ้นเป็น 42.70 บาท/หุ้น

 

อันดับ 4 บริษัท ไอร่า แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ AIRA รายงานผลประกอบการงวดปี  2564 มีกำไรสุทธิ 126.39 ล้านบาท  เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนขาดทุนสุทธิ 37.96 ล้านบาท

ทั้งนี้สาเหตุที่ผลการดำเนินงานปรับตัวดีขึ้นเนื่องจากการรับรู้รายได้จากค่านายหน้า กำไรและผลตอบแทนจากเครื่องมือทางการเงิน และรายได้ดอกเบี้ยจากเงินให้กู้ยืม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรายได้จากธุรกิจหลักทรัพย์ โดยมีส่วนรายได้ 632 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 17 เมื่อเทียบจากปีก่อน โดยปัจจัยหลักมาจากปริมาณการซื้อขายของลูกค้าเดิม และลูกค้าใหม่ที่เพิ่มขึ้น

ขณะที่รายได้จากการให้เช่าและบริการ จำนวน 191 ล้านบาท ประกอบด้วย รายได้ค่าเช่าจากสัญญาเช่าดำเนินงานของธุรกิจลีสซิ่ง 64 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 42 เมื่อเทียบจากปีก่อน และรายได้ค่าเช่าของธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ 126 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 61 เมื่อเทียบจากปีก่อน โดยรายได้ค่าเช่าพื้นที่เพิ่มขึ้นมาก เนื่องจากอาคารสำนักงานให้เช่าที่ดำเนินการในนาม บจก.แอสไพเรชั่น วัน ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จ และเปิดดำเนินการให้เช่าพื้นที่ได้ตั้งแต่ปี 2563 โดยมีอัตราการเช่าที่เพิ่มขึ้นตามแผนงานที่วางไว้

ส่วนผลการดำเนินของบริษัทร่วมที่ทำธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล สำหรับปี2564 มีรายได้รวม 1,665 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 302 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีผลขาดทุนสุทธิ 56 ล้านบาท ซึ่ง AIRA รับรายได้ส่วนแบ่งเงินลงทุนร้อยละ 30 คิดเป็นกำไรจากส่วนแบ่งเงินลงทุน 90 ล้านบาท ขณะที่ธุรกิจให้บริการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลต่อธุรกิจการท่องเที่ยวโดยตรงทำให้มีผลขาดทุนเล็กน้อย

ด้าน นางนลินี งามเศรษฐมาศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไอร่า แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ AIRA เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานที่เติบโตเพิ่มขึ้น เป็นการตอกย้ำถึงความศักยภาพความแข็งแกร่งในการดำเนินธุรกิจ ประกอบกับทุกบริษัทในเครือ AIRA Group ได้มีการปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยมุ่งเน้นการบริหารจัดการด้านต้นทุนทางการเงินและควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ประกอบกับการดำเนินงานของบริษัทย่อยในกลุ่มธุรกิจหลักมีการเติบโตและมีกำไรอย่างต่อเนื่อง และที่สำคัญหลังจากที่ AIRA Group ได้มีการขยายการลงทุนในแต่ละธุรกิจในแต่ละช่วงที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไปจะเริ่มเข้าสู่ปีแห่งการเก็บเกี่ยวผลผลิตของธุรกิจในเครือ

 

อันดับ 5 บริษัท เอ็นซีแอล อินเตอร์เนชั่นแนล โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ NCL รายงานผลการดำเนินงานงวดปี 2564 สิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค.2564 มีกำไรสุทธิ 111.08 ล้านบาท  เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนขาดทุนสุทธิ 26.07 ล้านบาท

โดยผลการดำเนินงานงวดปี 2564 พลิกมีกำไร เนื่องจากรายได้รวมในปี 2564 เติบโตมากกว่าร้อยละ 110 เทียบกับปีก่อน รายได้หลักจากการให้บริการขนส่งเติบโตร้อยละ 131 เทียบกับปีก่อน จากบริการรับจัดการขนส่งครบวงจร (Freight forwarder) ที่ได้รับผลบวกจากค่าระวางเรือที่ปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ด้านนายพงษ์เทพ วิชัยกุล กรรมการผู้จัดการ NCL เปิดเผยว่า ส่วนในปี 2565 บริษัทฯ ยังคงเชื่อมั่นว่าผลประกอบการจะเติบโตไม่ต่ำกว่า 50-60% จากปี 2564 เนื่องจากบริษัทฯ คาดว่าอุตสาหกรรมขนส่งของไทยยังจะเติบโตต่อเนื่องจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์โควิดที่เริ่มบรรเทาลงส่งผลให้เศรษฐกิจในหลายประเทศปรับตัวดีขึ้น,การบังคับใช้ RCEP ที่เริ่มต้นวันที่ 1 ม.ค.2565 ทำให้การนำเข้าส่งออกไปยังประเทศสมาชิกอาเซียนอีก 14 ประเทศคล่องตัวมากขึ้น, ปัญหาห่วงโซ่การผลิตที่มีความล่าช้าและเปราะบางส่งผลต่อค่าระวางเรือที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกันอุตสาหกรรมขนส่งของประเทศไทยยังต้องเผชิญความเสี่ยงภายนอกหลายประการเช่น สงครามทางการเมืองของประเทศมหาอำนาจ, อัตราเงินเฟ้อจากประเทศคู่ค้าที่อาจจะส่งต่อผ่านสินค้าต่างๆ หรือปัญหาการแข่งขันเชิงราคาหลังจากที่ค่าระวางเรือเพิ่มขึ้นมากในปีที่ผ่านมา แต่บริษัทฯ มีความได้เปรียบด้วยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญที่สะสมมากว่า 28 ปี ทำให้มีฐานลูกค้าประจำที่แข็งแกร่ง ประกอบกับการใช้โมเดลธุรกิจแบบ Asset light ทำให้มีความคล่องตัวและไม่เกิดต้นทุนจมโดยไม่จำเป็น

สำหรับในปี 2565 บริษัทฯ มีกลยุทธ์การดำเนินงานหลัก ดังนี้ 1.ขยายความสามารถในการรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมขนส่งมุ่งเน้นขยายการให้บริการในธุรกิจหลัก เพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมการขนส่งที่เปลี่ยนแปลงไปหลังจากเกิดการแพร่ระบาดของโควิด 19

2.ขยายขอบเขตการให้บริการไปยังธุรกิจการให้เช่าคลังสินค้าพร้อมบริการจัดส่ง โดยบริษัทฯ ต่อยอดธุรกิจโกดังสินค้าด้วยการให้บริการ Fulfillment center หรือศูนย์รวมสินค้าที่ทำหน้าที่รับสินค้าจากธุรกิจขนส่งที่บริษัทเชี่ยวชาญอยู่แล้ว ให้บริการจัดเก็บและจัดส่งสินค้าอย่างครบวงจร ซึ่งปัจจุบันบริษัทฯ มีโกดังสินค้าขนาด 700 ตารางเมตร เพื่อรองรับการพักสินค้าและมีแผนจะขยายเป็น 3,500 ตารางเมตรในปี 2565 นอกจากนี้บริษัทฯ ยังอยู่ระหว่างเจรจาเป็นพันธมิตรกับผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านระบบจัดการสินค้าในโกดังเก็บสินค้าเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกด้านการจัดการต่างๆ โดยคาดว่าการร่วมมือจะแล้วเสร็จในไตรมาส 1/2565

3.บริษัทฯ เสริมความมั่นคงของการดำเนินงานด้วยธุรกิจใหม่ ด้วยเล็งเห็นถึงสภาวะที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วของอุตสหกรรมขนส่งและเล็งเห็นถึงความเสี่ยงจากการพึ่งพารายได้จากธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากสภาวะเศรษฐกิจ ดังนั้นการเข้าลงทุนในธุรกิจดิจิตอลจะเป็นอีกหนึ่งตัวแปรสำคัญที่เข้ามาหนุนการเติบโตอย่างมีศักยภาพด้วยต้นทุนการดำเนินงานที่ลดลงอีกทั้งยังช่วยกระจายความเสี่ยงจากธุรกิจการขนส่งได้เป็นอย่างดี

*ทั้งนี้ข้อมูลที่มีการนำเสนอข้างต้น เป็นเพียงข้อแนะนำจากข้อมูลพื้นฐานเพื่อประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนเท่านั้น และมิได้เป็นการชี้นำ หรือเสนอแนะให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆการตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ ของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นผลจากการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน

Back to top button