“บิ๊กตู่” โชว์สัมพันธ์ “ไทย-ซาอุฯ” ดีขึ้น หนุนศก.โตหลายด้าน

นายกรัฐมนตรี เผยเพียง 50 วันหลังกลับจากเดินทางเยือนซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการ ทำให้ความสัมพันธ์กลับมาเป็นปกติ ส่งผลให้เศรษฐกิจไทย ทั้งท่องเที่ยว ส่งออกอาหาร และแรงงานเติบโตต่อเนื่อง


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้โพสต์เฟซบุ๊ก “ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut-Chan-o-cha” ถึงความคืบหน้าการพลิกฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างไทยและซาอุดีอาระเบีย ในรอบกว่า 30 ปี ซึ่งเวลาเพียงแค่ 50 วัน หลังจากที่ได้เดินทางเยือนซาอุดีอาระเบีย เมื่อวันที่ 25 มกราคมที่ผ่านมา ก็เห็นผลเป็นรูปธรรมในหลายเรื่อง

เริ่มจาก “การเดินทางท่องเที่ยว” ไทยได้มีโอกาสต้อนรับเที่ยวบินปฐมฤกษ์ สายการบิน Saudia Airlines จากเมืองเจดดาห์ กรุงริยาด มาสู่กรุงเทพฯ ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เป็นเที่ยวบินแรกในรอบ 32 ปี ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในเวลาเพียง 1 เดือน ซึ่งเร็วกว่าที่คาดหมายไว้ สะท้อนถึงประสิทธิภาพในการทำงาน และความกระตือรือร้นของทุกฝ่าย พิสูจน์ว่าไทยเป็นจุดหมายที่ชาวซาอุฯ ต้องการมาเยือน และหลังจากนี้เป็นต้นไป สายการบิน Saudia Airlines จะทำการบินมายังประเทศไทย 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ (วันจันทร์-พุธ-ศุกร์) และนักท่องเที่ยวคุณภาพจากซาอุดีอาระเบีย และชาวตะวันออกกลาง จะสามารถเดินทางต่อไปยังจุดหมายปลายทาง ทั้งแหล่งการค้าการลงทุน ท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ แหล่งช้อปปิ้ง ทั้งเมืองหลักและเมืองรองต่างๆ ทั่วประเทศไทย ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและการใช้จ่ายได้อีกทางหนึ่ง

“การส่งออกอาหาร” ทางการซาอุดีอาระเบียได้บรรลุข้อตกลง ให้ไทยส่งออกไก่สดแช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป จาก 11 โรงงานไทยไปที่ซาอุฯ มีผลทันทีตั้งแต่ 13 มีนาคมที่ผ่าน ใช้เวลาทำงานร่วมกันเพียง 47 วัน โดยองค์การอาหารและยาซาอุฯ (Saudi Food & Drug Authority : SFDA) เป็นผู้พิจารณาโรงงานไทยที่ผ่านมาตรฐาน โดยผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมไก่เนื้อของไทย ส่วนใหญ่มีการลงทุนในอุตสาหกรรมต้นทางจนถึงปลายทางแบบ “ครบวงจร” ตั้งแต่อาหารสัตว์ ฟาร์มไก่เนื้อ ไปจนถึงโรงงานแปรรูป โดยเฉพาะฟาร์มไก่ ซึ่งหมายรวมถึงฟาร์มของเกษตรกรภายใต้พันธสัญญากับบริษัท (Contract Farming) ด้วย จึงส่งผลดีต่อทั้งรายใหญ่ รายย่อย และตลอดห่วงโซ่อุปทานของไทย

เรื่องสุดท้ายคือ “การส่งแรงงานไทยไปซาอุฯ” จะมีการลงนามข้อตกลงระหว่างกันในวันที่ 28 มีนาคมนี้  โดยคณะผู้แทนทางวิชาการซาอุดีอาระเบีย มีความพอใจในความพร้อมของการฝึกอบรมและทดสอบฝีมือแรงงานของไทย ซึ่งมีการจัดตั้งเป็น “ศูนย์ฝึกอบรมและศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน” สาขางานบริการโรงแรม พนักงานบริการห้องพักและการประกอบอาหารฮาลาล เป็นต้น อีกทั้งแสดงความต้องการแรงงานในสาขาอื่นๆ เพิ่มเติม เช่นช่างเชื่อมใต้น้ำ ช่างเคาะพ่นสี พ่อครัว และผู้ให้บริการด้านสุขภาพ/สาธารณสุข (Medical Staff) อีกด้วย จึงมีความเป็นไปได้สูงว่า แรงงานไทยในซาอุฯ เพิ่มขึ้นจาก 10,000 คน ในปัจจุบัน เป็น 50,000 คนภายในระยะ 3 ปี และเพิ่มอีกเป็น 100,000 คน ภายใน 5 ปี จะสร้างรายได้ส่งกลับประเทศเพิ่มขึ้นอีก 2,250-4,500 ล้านบาทต่อปี

โดยหลังจากนี้รัฐบาลจะเร่งยกระดับผู้แทนทางการทูตของทั้ง 2 ประเทศ จาก “อุปทูต” ให้กลับมาเป็นระดับ “เอกอัครราชทูต” ดังเดิม ที่จะเป็นกลไกสำคัญในการผลักดันกรอบนโยบายและแผนความร่วมมือ ทั้งส่วนภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนต่อไป ซึ่งจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในหลายเรื่อง เช่น การเปิดประตูการค้ากับซาอุฯ ให้กลับไปที่ 2.2% ของการส่งออกไทยทั้งหมด

Back to top button