“เวิลด์แบงก์” หั่น GDP ไทยเหลือ 2.9% หลังวิกฤตยูเครนกัดดัน

เวิลด์แบงก์ ประกาศปรับลด GDP ไทยปีนี้ลงเหลือ 2.9% จากเดิม 3.9% โดยมีความเสี่ยงจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน กระทบทั้งการบริโภคและการส่งออก แม้ภาคการท่องเที่ยวจะเริ่มกลับมาฟื้นตัว แต่ยังน้อยกว่าช่วงก่อนเกิดสถานการณ์โควิด


นางเบอร์กิท ฮานสล์ ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย หรือ เวิลด์แบงก์ เปิดเผยว่า เวิลด์แบงก์ได้ปรับลดประมาณการ GDP ของไทยในปีนี้ลงเหลือ 2.9% ถือว่า ปรับลดลงค่อนข้างมากจากประมาณการในรอบเดือนมกราคม 2565 ที่ 3.9% โดยประเด็นสำคัญมาจากความเสี่ยงจากภาคต่างประเทศ โดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่ส่งผลกระทบต่อราคาพลังงาน ซึ่งไทยถือว่าเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างสูง เนื่องจากมีการนำเข้าพลังงานถึง 4.5%ของ GDP

โดยผลกระทบด้านราคาพลังงาน จะทำให้ต้นทุนสูงขึ้นและกระทบต่อการบริโภคเอกชนด้วย โดยราคาพลังงานโดยรวมที่เพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยกดดันต่อการขยายตัวเศรษฐกิจโลก และทำให้แนวโน้มการส่งออกไทยมีแนวโน้มได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มที่ฟื้นตัว โดยปัจจัยบวกจากการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว ซึ่งเวิลด์แบงก์ ประเมินว่าปีนี้ไทยจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาประมาณ 6.2 ล้านคน แต่ยังอยู่ในระดับต่ำ เมื่อเทียบกับก่อนเกิดโควิด เนื่องจากกลุ่มนักท่องเที่ยวหลักจากจีนยังไม่เข้ามาไทยในปีนี้ เนื่องจากนโยบายควบคุมการแพร่ระบาดโควิดในจีน ส่วนปัจจัยบวกอีกด้าน คือ การผ่อนคลายล็อกดาวน์ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจปรับดีขึ้นชัดเจน หนุนการบริโภคในประเทศ

นอกจากนี้ราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นมาก ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญทั่วโลก และหากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญกับไทยเริ่มอ่อนแอลง ถ้าผลกระทบรุนแรงขึ้น จะส่งผลให้ภาพของ GDP ของไทยลงไปอยู่ที่ 2.6% ซึ่งจะต่ำกว่าประมาณการณ์ไว้ โดยการคาดการณ์ดังกล่าว อยู่ภายใต้สมมติฐานว่า สงครามรัสเซียและยูเครนจะส่งผลกระทบให้เกิดช็อกในตลาดการเงิน

ด้านนโยบายการเงินนั้น เวิลด์แบงก์ ประเมินว่า แนวโน้มเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างอ่อนแอ ยังจำเป็นที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ต้องดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย เพื่อหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยแนวโน้มการฟื้นตัว ยังเป็นการฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยยังเห็นการเติบโตของเศรษฐกิจที่ไม่เท่าเทียมกัน เช่น ภาคอุตสาหกรรม ซึ่งฟื้นตัวสูงกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด แต่ในภาคการท่องเที่ยวนั้น ยังเติบโตอ่อนแอ โดยตัวเลขที่ออกมาในไตรมาสที่ 4 จำนวนนักท่องเที่ยวยังต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดโควิดถึง 40%

สำหรับนโยบายการคลังที่ดำเนินการอยู่นั้น เวิลด์แบงก์ ประเมินว่า เป็นนโยบายที่ตรงจุด และเหมาะสมที่จะช่วยผู้ที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก เช่น นโยบายคนละครึ่งช่วยสนับสนุนร้านค้าต่างๆที่ได้รับผลกระทบจากโควิด และหนุนให้การใช้จ่ายดีขึ้น ถือเป็นนโยบายที่เหมาะสม โดยเฉพาะในช่วงที่ราคาน้ำมันสูงขึ้น ทำให้ภาคครัวเรือนที่มีรายได้น้อย ซึ่งได้รับผลกระทบมาก เพราะมีสัดส่วนการใช้จ่ายด้านอาหารและพลังงานเกือบ 50% ของรายได้ ดังนั้น นโยบายที่ภาครัฐประกาศออกมาถือว่าเป็นนโยบายลดภาระการใช้จ่ายได้

Back to top button