“ขบ.” รับทรัพย์ประมูล “ทะเบียนพิเศษ” เฉียด 100 ล้าน!

กรมการขนส่งทางบก เปิดประมูลทะเบียนรถเลขสวยลักษณะพิเศษครั้งแรก โดยทะเบียน “รวย9999-รวย8888” ปิดประมูลราคาเฉียด 30 ล้านบาท พร้อมคาดประมูลทั้งงาน 84 หมายเลขกวาดรายได้ 100 ล้านบาท


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) จัดการประมูลทะเบียนรถเลขสวยลักษณะพิเศษครั้งแรกของประเทศไทย สำหรับรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกินเจ็ดคน เพื่อให้ผู้ที่สนใจได้ครอบครองป้ายทะเบียนรถลักษณะพิเศษ ที่มีเอกลักษณ์ ไม่เหมือนใคร โดยเงินรายได้จากการประมูลนำไปใช้ในกิจกรรมเสริมสร้างความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน หรือ กปถ. และสนับสนุนเป็นค่าอุปกรณ์ช่วยเหลือผู้พิการที่ประสบภัยจากการใช้รถใช้ถนน จากหมายเลขทะเบียนที่เปิดให้ลงทะเบียนประมูล 107 หมายเลข โดยมีป้ายทะเบียนที่มีผู้สนใจจำนวน 84 หมายเลข ที่นำออกประมูลครั้งนี้ ซึ่งสามารถร่วมประมูลด้วยตนเองได้ที่โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ (รางน้ำ) หรือเสนอราคาผ่านทางเว็บไซต์ www.tabienrod.com

สำหรับบรรยากาศในการประมูลเป็นไปด้วยความคึกคัก โดยเลขหมายที่มีผู้เข้าร่วมประมูลราคาสูงสุด คือ รวย 9999 ราคา 18,560,000 บาท เป็นผู้ประมูลทางอินเตอร์เน็ต ใช้ชื่อ “whatever” ใช้เวลาประมูล 55 นาที มีการเสนอราคา 424 ครั้ง อันดับ 2 คือ รวย 8888 ราคา 11,100,000 บาท เป็นผู้เสนอราคาด้วยตัวเองในห้องประมูล ชื่อ นางสาววาสนา อินทะแสง ใช้เวลาประมูล 45 นาที มีการเสนอราคา 320 ครั้ง

นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า การประมูลหมายเลขทะเบียนรถที่มีลักษณะพิเศษ สำหรับรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกินเจ็ดคน ครั้งแรกของประเทศไทย ถือว่าได้รับความสนใจและประสบความสำเร็จด้วยดี ซึ่งป้ายพิเศษ ที่มีผู้สนใจมาก คือ รวย 9999 ถูกประมูลไปด้วยราคา 18.56 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาสูงสุดของป้ายทะเบียนพิเศษ และหากนับรวมกับการประมูลป้ายทะเบียนทั้งหมดตลอด 19 ปีที่ผ่านมา จะถือเป็นราคาประมูลสูงเป็นอันดับ 3 รองจาก 8กก 8888 ราคา 28 ล้านบาท อันดับ 2 คือ 1 กก 1111 ราคา 25 ล้านบาท โดยการประมูลป้ายทะเบียนพิเศษครั้งนี้จำนวน 84 หมายเลข คาดว่าจะมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามผู้ที่ประมูลได้ จะต้องชำระเงินภายใน 30 วัน หากไม่ชำระตามเงื่อนไข จะมีการติดตามผ่านขั้นตอนทางกฎหมาย และหากไม่สามารถชำระได้ กรมการขนส่งทางบก จะนำเลขทะเบียนดังกล่าวออกประมูลใหม่ และหากราคาประมูลใหม่ได้ต่ำกว่าราคาครั้งแรก ผู้ที่ไม่ชำระครั้งแรกจะต้องจ่ายส่วนต่างราคา ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการดำเนินการตามกฎหมายแล้วหลายร้อยราย

Back to top button