FSMART ย้ำเป้ารายได้ปีนี้โต 15% ตั้งงบลงทุน 700 ลบ. ขยายตู้บุญเติม Mini ATM-“เต่าบิน”

FSMART ปักธงรายได้ปีนี้โต 10-15% ตั้งงบลงทุน 700 ลบ. ขยายตู้บุญเติม Mini ATM วางเป้า 1 หมื่นจุด ส่วนเต่าบิน 2 หมื่นตู้ ภายใน 3 ปี และธุรกิจการเงิน-สินเชื่อ ลุยปล่อยสินเชื่อปีนี้วงเงิน 1 พันลบ.


นายณรงค์ศักดิ์ เลิศทรัพย์ทวี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ FSMART เปิดเผยข้อมูลภาพรวมธุรกิจของบริษัทผ่านงาน Opportunity Day จัดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ในวันที่ 18 พ.ค.2565 ว่า ปัจจุบันบริษัท วางโครงสร้างออกเป็น 3 ธุรกิจหลัก คือ 1.ธุรกิจเติมเงินและรับชำระเงินทั้งในแบบออฟไลน์และออนไลน์ ผ่านตู้บุญเติม และยังมีเคาน์เตอร์แคชเชียร์ และแอปพลิเคชันบนมือถือ โดยเพิ่มบริการใหม่ เน้นๆย้ำสถานที่ตั้ง เนื่องจากมีบริการที่หลากหลาย นอกเหนือจากแอพพิเคชันให้กลุ่มองค์กรขนาดใหญ่และได้มีการโดยล่าสุดจับมือกับ อสม.ซึ่งมีฐานสมาชิก 1 ล้านคน เพื่อทำแอพจับจ่ายในเรื่องธุรกรรมทางการเงิน

2.กลุ่มธุรกิจบริการทางการเงินและสินเชื่อครบวงจร บริษัทมีความเพรียงพร้อมทั้งด้านช่องทางบริการและเครือข่ายบริการทั่วประเทศที่สามารถเป็นตัวแทนธนาคาร ด้วยการให้บริการทางการเงินที่ครบวงจรทั้งบริการฝาก-โอน-ถอนเงินสด และให้บริการ e-KYC ผ่านตู้บุญเติม เคาน์เตอร์แคชเชียร์และแอปพลิเคชัน จากกลยุทธ์สำหรับเสริมศักยภาพของกลุ่มธุรกิจนี้ บริษัทมีเป้าหมายที่จะเพิ่มฐานลูกค้าจากการเป็นตัวแทนให้แก่ธนาคารและกลุ่ม non-bank เพิ่มอีกอย่างน้อย 2 รายจากที่มีอยู่แล้ว 7 ธนาคารพาณิชย์ และแผนการขยายตู้บุญเติม Mini ATM อยู่ที่ 10,000 จุด บริการทั่วประเทศ ภายใน 3 ปี ควบคู่ไปการกับขยายขอบเขตการให้บริการลูกค้าที่สนใจบริการโอนเงินไปยังต่างประเทศ ซึ่งการเพิ่มทั้งกลุ่มลูกค้าใหม่และขยายขอบเขตบริการดังกล่าวจะผลักดันให้จำนวนธุรกรรมเพิ่มขึ้น 15-20% ตามเป้าที่วางไว้

สำหรับบริการสินเชื่อ บริษัทมีเป้าหมายการให้สินเชื่อในปี 2565 จำนวน 1,000 ล้านบาท ภายใต้การบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสม บริษัทได้สรรหาผลิตภัณฑ์สินเชื่อเพื่อตอบโจทย์กลุ่มลูกค้า จากการใช้ฐานข้อมูลเชิงลึกของลูกค้าบุญเติมมากกว่า 16 ล้านรายและลูกค้าองค์กรต่าง ๆ ผนวกกับช่องทางการเข้าถึงบริการทั้งแบบออนไลน์บนมือถือและออฟไลน์ผ่านตัวแทนบริการหรือบุญเติม Call Center 1220 ทำให้บริษัทสามารถนำเสนอแก่ลูกค้าได้อย่างง่ายดาย บริษัทจะมุ่งเน้นการปล่อยสินเชื่อผ่อนชำระมือถือให้มากขึ้นจากความนิยมอย่างมากจากกลุ่มลูกค้าบุญเติมและลูกค้าองค์กร ทั้งนี้บริษัทจะทยอยออกสินเชื่อจำนำทะเบียนออกสู่ตลาด และจะผลักดันผลิตภัณฑ์ใหม่ด้านสินเชื่อไปในทุกช่องทางของบริษัท ซึ่งจะช่วยเสริมรายได้ของบริษัทให้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

3.ธุรกิจเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติและการกระจายสินค้า (Vending Machine) จากกระแสนิยมชมชอบเครื่องดื่มกว่า 170 เมนู ทั้งร้อน เย็น ปั่นของคาเฟ่ อัตโนมัติ “เต่าบิน” ที่ให้บริการ 24 ชั่วโมง มาพร้อมกับระบบรับชำระทุกรูปแบบและและศูนย์ดูแลบริการลูกค้าภายใต้ระบบจัดการของบริษัท และแผนธุรกิจของคาเฟ่ อัตโนมัติเต่าบินที่จะขยายจุดให้บริการวันละ 20-30จุดต่อวัน และคงเป้าการกระจายไว้ที่ 20,000 จุดทั่วประเทศใน 3 ปี ที่จะสร้างยอดขาย 50 แก้วต่อตู้ต่อวัน หรือ 1 ล้านแก้วต่อวัน ส่วนปี 2565 ตั้งเป้าเปิดให้ได้ 5,000 ตู้

โดยบริษัทเล็งเห็นถึงศักยภาพของธุรกิจนี้ที่พร้อมจะเติบโตอย่างก้าวกระโดด จึงได้มีการลงทุนเพิ่มผ่านบริษัท ฟอร์ท เวนดิ้ง จำกัด (FVD) โดยบริษัทจะเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นจากเดิมที่ 19.35% เป็น 26.71% เพื่อเป็นการให้บริษัทได้รับรู้กำไรส่วนได้ส่วนเสียจากเงินลงทุน (Equity Income) โดยจะดำเนินการให้เรียบร้อยภายในเดือนพฤษภาคม 2565

บริษัทเตรียมแผนสำหรับธุรกิจอนาคตในตลาดรถยนต์ไฟฟ้ากำลังเป็นที่นิยมเพิ่มขึ้นอย่าต่อเนื่องและจะผลักดันสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้ามีระบบจัดการที่ครอบคลุมทั้งระบบจัดการผ่านแอปพลิเคชัน ระบบรับชำระที่สะดวก พร้อมกับศูนย์ดูแลบริการตลอด 24 ชั่วโมง ภายใต้แบรนด์ “EV Net” ที่เป็นตราสินค้าในการบริหารของบริษัทให้เข้าสู่ตลาดรถไฟฟ้าอย่างแข็งแกร่ง

นอกเหนือจากการลงทุนเพื่อเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัท ฟอร์ท เวนดิ้ง จำกัด (FVD) จาก 19.35% เป็น 26.71% ในปีนี้ยังวางงบลงทุนประมาณ 700 ล้านบาท เพื่อลงทุนในส่วนของตู้บุญเติมและตู้ Mini ATM  และลงทุนเพิ่มในธุรกิจคาเฟ่ อัตโนมัติ  “เต่าบิน” โดยบริษัทยังคงเป้าหมายการเติบโตโดยรวมปีนี้ไว้ที่ 10-15% จะโตในส่วนของการเงินธุรกิจการเงินครบวงจรและสินเชื่อ

ส่วนผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2565 บริษัทมีรายได้รวม 589.23 ล้านบาท เป็นกำไรสุทธิ 80.94 ล้านบาท โดยไตรมาสนี้บริษัทได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว และค่าครองชีพที่สูงขึ้น อีกทั้งไม่มีมาตรการรัฐช่วยกระตุ้นการใช้จ่าย ทำให้กำลังซื้อของผู้ใช้บริการชะลอตัวลง อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงรักษาฐานลูกค้าให้ใช้งานอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจำนวนรายการบริการฝาก-โอนเงินในไตรมาสนี้ที่มีมากกว่า 1.6 ล้านครั้งต่อเดือน และบริการเติมเงิน E-Wallet ผ่านตู้บุญเติมมากกว่า 1,817 ล้านบาท แสดงให้เห็นถึงความต้องการใช้บริการผ่านช่องทางบุญเติมอยู่จำนวนมาก ซึ่งเชื่อว่าสถานการณ์ต่าง ๆ จะมีแนวโน้มดีขึ้นต่อไป

Back to top button