BGRIM ส่งซิกผลงานไตรมาส 2 แจ่ม รับรู้รายได้เพิ่ม-ขึ้นค่า Ft หนุนราคาขายไฟพุ่ง

BGRIM มองผลงานไตรมาส 2 โตดีกว่าไตรมาส 1 รับรู้กำลังผลิตใหม่ และผลประกอบการจากการซื้อกิจการ รวมถึงได้ปรับเพิ่มค่า Ft หนุนราคาขายไฟฟ้าเพิ่ม คาดหวังปิดดีลซื้อกิจการเพิ่มเติมอีกในปีนี้


นายนพเดช กรรณสูต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงินและบัญชี บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM เปิดเผยข้อมูลภาพรวมธุรกิจของบริษัทผ่านงาน Opportunity Day จัดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ในวันที่ 27 พฤษภาคม 2565 โดยบริษัทคาดผลการดำเนินงานไตรมาส 2/65 น่าจะเติบโตดีกว่าไตรมาสแรกที่ผ่านมา เนื่องจากสามารถรับรู้กำลังการผลิตใหม่และผลประกอบการจากการซื้อกิจการ (M&A) โครงการมาเลเซียเข้ามา รวมถึงคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่า Ft) รอบเดือนพ.ค.-ส.ค.นี้ ที่ 23.38 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ส่งผลดีต่อราคาขายไฟฟ้า

ทั้งนี้ ในช่วงที่เหลือของปี 65 บริษัทจะดำเนินการจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) เพิ่มเติมอีก 136 เมกะวัตต์ โดยเป็นโครงการโรงไฟฟ้า SPP Replacement จำนวน 5 โครงการ กำลังการผลิตรวม 700 เมกะวัตต์ ซึ่งจะมาทดแทนโรงไฟฟ้าโครงการเดิมที่สัญญาจะหมดอายุลง ประกอบด้วย โครงการอมตะ บี.กริม เพาเวอร์ 1, โครงการ อมตะ บี.กริม เพาะเวอร์ แหลมฉบัง 1, โครงการ บี.กริม เพาเวอร์ (เอไออี-เอ็มทีพี) จำนวน 2 โครงการ รวมกำลังการผลิตที่จะหมดอายุลง 564 เมกะวัตต์ และยังช่วยลดอัตราการใช้ก๊าซลงไปได้ถึง 15%

อีกทั้งยังมีโครงการโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์ม อู่ตะเภา ขนาด 18 เมกะวัตต์ และคาดหวังจะสามารถปิดดีลซื้อกิจการ (M&A) โรงไฟฟ้าเข้ามาเพิ่มเติมอีก จากปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตรอยู่หลายราย โดยส่วนใหญ่อยู่ในต่างประเทศ หรือเอเชียแปซิฟิก รวมถึงในภูมิภาคอื่นๆ เพื่อสนับสนุนเป้าหมายกำลังการผลิตเติบโตเพิ่มอีกไม่น้อยกว่า 1,000 เมะกวัตต์ในปีนี้

โดยปัจจุบัน BGRIM มีโครงการที่เปิดดำเนินการแล้วทั้งหมด 53 โครงการ มีกำลังการผลิตติดตั้ง 3,254 เมกะวัตต์ ตั้งเป้ามีกำลังการผลิตรวมของโครงการใหม่ไม่น้อยกว่า 1 กิกะวัตต์ หรือ 1,000 เมกะวัตต์ ภายในปีนี้ ซึ่งจะมาจากโครงการที่ก่อสร้างใหม่และการเข้าซื้อกิจการตั้งอยู่ในหลากหลายประเทศ โดยยังคงเป้าหมายการมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 7,200 เมกะวัตต์ ภายในปี 68 และ 10,000 เมกะวัตต์ภายในปี 73

ด้านแนวโน้มราคาค่าก๊าซที่ปรับตัวขึ้น ปัจจุบันบริษัทฯ ก็อยู่ระหว่างติดตามสถานการณ์อย่างต่อใกล้ชิด โดยเฉพาะกับทางหน่วยงานของรัฐบาลที่ปัจจุบันก็มีการหาแนวทางในการดูภาพรวมของต้นทุนก๊าซ โดยการใช้สูตรที่ปรับเปลี่ยนไปจาก Gas pooling มาเป็น Energy pool price ซึ่งก็ดูอยู่ว่าตรงนี้จะช่วยในเรื่องของต้นทุนการผลิตไฟฟ้าหรือการจัดการด้านพลังงานของประเทศไทยหรือไม่ อย่างไรก็ตามเชื่อว่าน่าจะมีส่วนหนึ่งที่ช่วยให้แนวโน้มของต้นทุนราคาก๊าซมีโอกาสไม่สูงมากไปกว่านี้

นอกจากนี้ บริษัทยังมองการหาโอกาสในการเพิ่มรายได้จากทางลูกค้าอุตสาหกรรม (IU) หรือการทำ M&A เพื่อเพิ่มรายได้ ส่วนการจัดการด้านประสิทธิภาพ ก็จะนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้กับโรงไฟฟ้าโครงการใหม่ๆ เพื่อลดการใช้ก๊าซลง รวมถึงการควบคุมค่าใช้จ่ายต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายลดค่าใช้จ่ายให้ได้ไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาทต่อปี และการร่วมกับทางบมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) ก็จะช่วยให้มีรายได้เกิดขึ้นราว 20-25 ล้านบาทต่อปีต่อโครงการที่มีความเป็นไปได้

อย่างไรก็ดีในปี 66 บริษัทก็จะเริ่มมีการนำเข้าก๊าซ LNG โดยมีสัญญาระยะยาวที่ล็อกไว้ตั้งแต่ช่วงปีก่อน ซึ่งหากกระบวนการนำเข้าก๊าซ LNG ดำเนินการได้ก็เชื่อว่าจะช่วยหนุนการดำเนินงานและภาระต้นทุนราคาก๊าซฯ ในโรงไฟฟ้าของบริษัทให้ปรับตัวดีขึ้น

นายนพเดช กล่าวว่า บริษัทยังมีแผนออกเสนอขายหุ้นกู้วงเงิน 5,000-8,000 ล้านบาทในช่วงที่เหลือของปีนี้ เพื่อใช้รองรับการขยายธุรกิจ และผลักดันกำลังการผลิตสู่ระดับเป้าหมาย 7,200 เมะกวัตต์ภายในปี 68 และแตะ 10,000 เมกะวัตต์ภายในปี 73 พร้อมวางงบลงทุนในช่วง 5 ปี (ปี 65-69) ประมาณ 140,000 ล้านบาท

Back to top button