“EXIM BANK” ปล่อยกู้ “กันกุล” 2.2 พันลบ. ลุยพลังงานทดแทน-พืชเศรษฐกิจ

EXIM BANK ปล่อยกู้วงเงิน 2,200 ล้านบาท ให้บริษัทในกลุ่ม GUNKUL ใช้ลงทุนในธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และธุรกิจพืชเศรษฐกิจเพื่อสุขภาพ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG


ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) และ ดร.สมบูรณ์ เอื้ออัชฌาสัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กันกุล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL เปิดเผยว่า ร่วมลงนามในสัญญาสนับสนุนทางการเงินของ EXIM BANK จำนวนรวม 2,200 ล้านบาท เพื่อสนับสนุน GUNKUL และบริษัทในเครือ พัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนทั้งในและต่างประเทศ และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ อาทิ ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน สถานีไฟฟ้าและระบบสายส่งไฟฟ้า

รวมถึงธุรกิจพืชเศรษฐกิจกัญชง ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ที่มีศักยภาพ โดยมี นายฐิติพงศ์ เตชะรัตนยืนยง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มการเงิน GUNKUL และ นายอิทธิพล เลิศศักดิ์ธนกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ EXIM BANK เป็นสักขีพยาน ณ EXIM BANK สำนักงานใหญ่ เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา

สำหรับในบทบาทการเป็นธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (Thailand Development Bank) EXIM BANK มุ่งมั่นสนับสนุนการลงทุน เพื่อการพัฒนาประเทศ และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยผ่านการสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New Engines) ที่ตอบโจทย์กระแสโลกในอนาคต อาทิ ธุรกิจสีเขียว ธุรกิจดิจิทัล และธุรกิจเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ (Green, Digital, Health : GDH)

รวมถึงส่งเสริมการขับเคลื่อน BCG Economy ตามยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งกลุ่ม GUNKUL เป็นผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวข้องกับพลังงานทดแทนและระบบไฟฟ้าที่ไม่เพียงนำมาซึ่งผลตอบแทนทางการเงิน แต่ยังก่อให้เกิดผลตอบแทนด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงมีการขยายการลงทุนไปยังธุรกิจกัญชงเพื่อสุขภาพอย่างครบวงจร ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ที่มีศักยภาพในการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ และสร้างโอกาสในการต่อยอดให้เกิดห่วงโซ่อุตสาหกรรมใหม่และการส่งออกไปต่างประเทศในอนาคต

“โดยการสนับสนุนทางการเงินให้แก่กลุ่ม GUNKUL ในครั้งนี้เป็นบทบาทหนึ่งของ EXIM BANK ในการเดินเกมเปลี่ยนประเทศไทย ผ่านการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยในการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ที่มีมูลค่าสูงและตอบโจทย์กระแสโลกในอนาคตในกลุ่มธุรกิจ GDH รวมถึงเสริมสร้าง BCG Economy เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโต ควบคู่กับการพัฒนาในมิติสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน” ดร.รักษ์ กล่าว

ส่วนโมเดลเศรษฐกิจแบบใหม่ (BCG Economy)  เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวมที่จะพัฒนาเศรษฐกิจ 3 มิติไปพร้อมกัน ประกอบด้วย 3 เศรษฐกิจหลัก ได้แก่ B ย่อมาจาก B-Bio Economy มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพอย่างคุ้มค่า ,C- Circular Economy เศรษฐกิจหมุนเวียน นำกลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด ,G-Green Economy เศรษฐกิจสีเขียว ลดผลกระทบต่อโลกอย่างยั่งยืน

Back to top button