เอาไม่อยู่! กบน.เตรียมปรับเพดานตรึง “ดีเซล” เป็น 38 บ./ลิตร หลังราคาโลกพุ่งสูง

กบน. เตรียมพิจารณาทบทวนเพดานตรึงราคาน้ำมัน “ดีเซล” ใหม่เป็น เป็น 38 บาท/ลิตร หลังราคาน้ำมันโลกยังปรับตัวสูงต่อเนื่อง จนส่งผลต่อสภาพคล่องของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่อาจตรึงราคา 35 บาท/ลิตรได้ถึงสิ้นเดือนมิถุนายน


นายพรชัย จิรกุลไพศาล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สกนช. กล่าวว่า เบื้องต้นมีความเป็นไปได้ที่ กบน.อาจต้องปรับเพดานการตรึงราคาดีเซลเป็นลิตรละ 38 บาท จากปัจจุบันกำหนดไว้ไม่เกินลิตรละ 35 บาท ซึ่งอาจยืนได้ถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2565 ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เนื่องจากปัจจุบันราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่ลิตรละ 45 บาท แต่ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อประกอบการทบทวนราคาแต่ละสัปดาห์ รวมถึงสภาพคล่องของกองทุนและความคืบหน้าเรื่องเงินกู้จากสถาบันการเงินว่าจะมีเงินเข้าเติมในระบบได้เร็วแค่ไหน

ด้านนายสมภพ พัฒนอริยางกูล โฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน หรือ สพน. ได้ เผยแพร่ค่าการกลั่นมาตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งลักษณะการเผยแพร่จะเป็นรูปแบบการคำนวนจากตัวเฉลี่ยของราคาน้ำมันที่ผลิตในประเทศ กับค่าเฉลี่ยผลิตภัณฑ์ทั้งหมดที่โรงกลั่นมีการกลั่นและมาหักกับค่าเฉลี่ยของราคาน้ำมันดิบจาก 3 แหล่งได้แก่ จากดูไบ โอมาน และทาปีส โดยค่าการกลั่นเฉลี่ยช่วง 5 เดือนที่ผ่านมาของปี 2565 (ม.ค.-พ.ค.) อยู่ที่ลิตรละ 3.27 บาท

ขณะที่เดือน พ.ค.2565 ค่าการกลั่นอยู่ที่ลิตรละ 5.02 บาท ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นจริง แต่เป็นผลมาจากความต้องการน้ำมันสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นทั่วโลก ส่งผลต่อราคาน้ำมันและค่าการกลั่นเพิ่มขึ้น

ส่วนช่วง 10 ปีที่ผ่านมา หากนำค่าการกลั่นมาเปรียบเทียบช่วงปี 2563-2564 ที่เกิดสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้การใช้น้ำมันลดลง ทำให้ค่าการกลั่นอยู่ที่ลิตรละ 70-89 สตางค์ แต่เมื่อเปรียบเทียบกับปีอื่น เช่น ตั้งแต่ปี 2555 ค่าการกลั่นอยู่ที่ลิตรละ 2.15 บาท, ปี 2556 อยู่ที่ลิตรละ 2.2 บาท, ปี 2557 อยู่ที่ลิตรละ 2.35 บาท, ปี 2558 อยู่ที่ลิตรละ 2.43 บาท, ปี 2559 อยู่ที่ลิตรละ 1.83 บาท ปี 2560 อยู่ที่ลิตรละ 2.16 บาท ปี 2561 ลิตรละ1.70 บาท และปี 2562 ลิตรละ 1.20 บาท จะเห็นได้ว่าค่าการกลั่นเฉลี่ยอยู่ที่ลิตรละ 2-3 บาท มาตลอด และจะปรับเปลี่ยนขึ้นลงตามสถานการณ์ราคาและความต้องการใช้ในตลาดโลก ขณะที่ปัจจุบันที่เกิดวิกฤติราคาพลังงานจนทำให้ความต้องการเพิ่มขึ้นนั้นส่งผลให้ค่าการกลั่นเพิ่มขึ้นด้วย

อย่างไรด็ตามก่อนหน้านี้ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ระบุว่า กระทรวงพลังงานกำลังพิจารณาใช้มาตรการทางด้านพลังงานเข้าไปเก็บกำไรส่วนเกินจากหน้าโรงกลั่นน้ำมัน ก่อนนำไปใส่ในกองทุน เพื่อบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งได้สอบถามไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และอัยการสูงสุดได้คำตอบมาแล้วว่า อาจต้องมีการนำเสนอเข้า ครม. พิจารณาเพราะเกี่ยวข้องกับสัญญาโรงกลั่น

โดยกระทรวงพลังงาน กำลังดูให้รอบคอบ ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลคิดทำก่อนพรรคกล้าที่ออกมานำเสนอข้อมูล ถือว่าเป็นแนวทางที่ไม่ได้แตกต่างกัน ส่วนกรณีที่ระบุว่าค่าการกลั่นน้ำมันเพิ่มขึ้นมา 10 เท่าอยากให้ดูตัวเลขย้อนหลังเฉลี่ย 5 ปีจะเห็นว่าเฉลี่ยค่าการกลั่นจะอยู่ที่ 2-3 บาทกว่าต่อลิตรเท่านั้น แต่การที่เอาอัตราสูงสุดและต่ำสุดมาเทียบก็ทำให้ค่าการกลั่นสูงถึง 8 บาทตามที่พรรคกล้าออกมาให้ข้อมูล จึงไม่อยากให้ประชาชนเข้าใจผิด

อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าไม่ได้วางใจเรื่องของภาษีลาภลอย โดยมีการหารือกับทุกหน่วยงานซึ่งกระทรวงพลังงานก็มีอำนาจทำได้ในบางเรื่อง เช่น การดึงเงินกำไรส่วนเกินเอาไปเข้ากองทุน แต่เพื่อให้เกิดความแน่ใจและถูกต้องตามข้อกฎหมาย

Back to top button