CIMBT กวาดกำไร Q2 ทะลุพันล้าน โต 72% รับค่าฟีพุ่ง-ตั้งสำรองลด

CIMBT โกยกำไรไตรมาส 2 แตะ 1.05 พันลบ. โต 71.89% จากการคุมค่าใช้จ่าย-ตั้งสำรองลด และรายได้ค่าธรรมเนียมหนุน ส่วนงวด 6 เดือนแรกกวาดกำไร 2.11 พันลบ. โต 121.57%


ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ CIMBT รายงานผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 2/65 และงวด 6 เดือนแรกของปี 65 มีกำไรสุทธิ ดังนี้

โดยผลการดำเนินงานของกลุ่มธนาคาร สำหรับงวดหกเดือนสิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย.65 มีกำไรสุทธิจำนวน 2,115.50 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 1,160.70 ล้านบาท หรือร้อยละ 121.60 เมื่อเทียบจากงวดเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักเกิดจากการควบคุมค่าใช้จ่ายที่ดีขึ้นส่งผลให้คำใช้จ่ายในการดำเนินงานลดลงร้อยละ 7.40 และผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นลดลงร้อยละ 63.70

ส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 178.90 ล้านบาท หรือร้อยละ 26.70 สาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของค่าธรรมเนียมจากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ประกันภัย รายได้อื่นเพิ่มขึ้นจำนวน 143.5 ล้านบาท หรือร้อยละ 9.90 ส่วนใหญ่เกิดจากการเพิ่มขึ้นของกำไรสุทธิจากเครื่องมือทางการเงินที่วัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุนและรายได้อื่น สุทธิกับการเพิ่มขึ้นของขาดทุนจากเงินลงทุน

ด้านค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสำหรับงวดหกเดือนปี 65 ลดลงจำนวน 229.70 ล้านบาทหรือร้อยละ 7.40 เมื่อเทียบจากงวดเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายที่ดีขึ้น ทำให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้จากการดำเนินงานสำหรับงวดหกเดือนสิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย.65 อยู่ที่ร้อยละ 52.8 ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบจากงวดเดียวกันของปีก่อน อยู่ที่ร้อยละ 56.30

สำหรับอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPLs) อยู่ที่ 7.40 พันล้านบาท โดยอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อทั้งสิ้นอยู่ที่ร้อยละ 3.30 ลดลงเมื่อเทียบกับ ณ วันที่ 31 ธ.ค.64 อยู่ที่ร้อยละ 3.70 สาเหตุหลักมาจากการขายสินเชื่อด้อยคุณภาพในงวดหกเดือนปี 65 การบริหารจัดการความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ การปรับปรุงการบริหารคุณภาพสินทรัพย์และกระบวนการในการเก็บหนี้

ทั้งนี้อัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ ณ วันที่ 30 มิ.ย.65 อยู่ที่ร้อยละ 114.30 ลดลงจากสิ้นปี 64 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 117.50 ค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นของกลุ่มธนาคารอยู่ที่จำนวน 7.70 พันล้านบาท ซึ่งเป็นเงินสำรองส่วนเกินตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทยจำนวน 1.50 พันล้านบาท

Back to top button