สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 19 ส.ค. 2565

สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 19 ส.ค. 2565


ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลดลงในวันศุกร์ (19 ส.ค.) ท่ามกลางความวิตกว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% เป็นครั้งที่ 3 ในการประชุมนโยบายการเงินในเดือนก.ย. ซึ่งอาจส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐเผชิญกับภาวะถดถอย

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 33,706.74 จุด ลดลง 292.30 จุด หรือ -0.86%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,228.48 จุด ลดลง 55.26 จุด หรือ -1.29% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 12,705.22 จุด ลดลง 260.13 จุด หรือ -2.01%

ตลาดหุ้นยุโรปปิดลบในวันศุกร์ (19 ส.ค.) และปรับตัวลงรายสัปดาห์ เนื่องจากนักลงทุนวิตกเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยและแนวโน้มเศรษฐกิจที่ซบเซาของเยอรมนี หลังจากที่เปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) พุ่งขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือนก.ค.

ทั้งนี้ ดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดที่ 437.36 จุด ลดลง 3.40 จุด หรือ -0.77%

ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 6,495.83 จุด ลดลง 61.57 จุด หรือ -0.94% ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 13,544.52 จุด ลดลง 152.89 จุด หรือ -1.12% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,550.37 จุด เพิ่มขึ้น 8.52 จุด หรือ +0.11%

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดบวกเล็กน้อยในวันศุกร์ (19 ส.ค.) เนื่องจากนักลงทุนยังคงวิตกเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยในอังกฤษ หลังการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่ซบเซาในสัปดาห์นี้ รวมถึงความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ร่วงแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือนส.ค.

ทั้งนี้ ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,550.37 จุด เพิ่มขึ้น 8.52 จุด หรือ +0.11%

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดบวกเล็กน้อยในวันศุกร์ (19 ส.ค.) หลังการซื้อขายที่ผันผวน ขณะที่ความวิตกเกี่ยวกับอุปสงค์ที่อ่อนแอยังคงถ่วงราคาน้ำมันลงในรอบสัปดาห์นี้ นอกจากนี้ แนวโน้มการบรรลุข้อตกลงนิวเคลียร์ของอิหร่านซึ่งอาจทำให้มีปริมาณน้ำมันมากขึ้นในตลาดโลกนั้นทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นไม่มากนัก

ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.ย. เพิ่มขึ้น 27 เซนต์ หรือ 0.3% ปิดที่ 90.77 ดอลลาร์/บาร์เรล

ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนต.ค. เพิ่มขึ้น 13 เซนต์ หรือ 0.1% ปิดที่ 96.72 ดอลลาร์/บาร์เรล

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดปรับตัวลงในวันศุกร์ (19 ส.ค.) แตะระดับต่ำสุดในรอบกว่า 3 สัปดาห์ และลดลงเป็นวันที่ 5 ติดต่อกันยาวนานที่สุดนับตั้งแต่ต้นเดือนก.ค. เนื่องจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่เพิ่มขึ้น และการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐกดดันราคาทอง

ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนธ.ค. ลดลง 8.3 ดอลลาร์ หรือ 0.47% ปิดที่ 1,762.9  ดอลลาร์/ออนซ์ ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 28 ก.ค. และปรับตัวลง 2.9% ในรอบสัปดาห์นี้

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ย. ลดลง 39.5 เซนต์ หรือ 2.03% ปิดที่ 19.069 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนต.ค. ลดลง 16.9 ดอลลาร์ หรือ 1.87% ปิดที่ 888 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนก.ย. ลดลง 18 ดอลลาร์ หรือ 0.8% ปิดที่ 2,131.40 ดอลลาร์/ออนซ์

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันศุกร์ (19 ส.ค.) เนื่องจากนักลงทุนพากันเข้าซื้อดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินปลอดภัย ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากการที่เจ้าหน้าที่เฟดหลายรายสนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมนโยบายการเงินในเดือนก.ย.

ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.63% แตะที่ระดับ 108.1630

ดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยนที่ระดับ 136.87 เยน จากระดับ 135.87 เยน, ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิสที่ระดับ 0.9591  ฟรังก์ จากระดับ 0.9563 ฟรังก์ และดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดาที่ระดับ 1.2993 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2940 ดอลลาร์แคนาดา

ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์ที่ระดับ 1.0036 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0093 ดอลลาร์, เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.1813 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1934 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.6869 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6919  ดอลลาร์สหรัฐ

Back to top button