จับตา “กนง.” ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% พรุ่งนี้ สกัดเงินเฟ้อ-บาทอ่อนค่า

“เกรียงไกร เธียรนุกุล” คาดที่ประชุม “กนง.” ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ต่อปีไปอยู่ที่ระดับ 1% ต่อปี สกัดเงินเฟ้อ หวั่นค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่าต่อเนื่อง ซึ่งมีโอกาสหลุด 38 บาท/ดอลลาร์


นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 28 ก.ย.65 ต้องติดตามว่าจะพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหรือไม่ เบื้องต้นหลายฝ่ายคาดการณ์ว่าจะขยับอีก 0.25% ต่อปีไป อยู่ที่ระดับ 1% ต่อปีจากภาวะเงินเฟ้อที่อยู่ระดับสูงและค่าเงินบาทที่อ่อนค่า หากยังคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลงเลยจะยิ่งทำให้แนวโน้มค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่าต่อเนื่องได้ และจะกดดันให้ไทยเกิดขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้น

โดยค่าเงินบาทของไทยมีโอกาสหลุด 38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ตามทิศทางการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ล่าสุดปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.75% และจะขึ้นดอกเบี้ยอีกไปสู่ระดับ 4.4% สิ้นปีนี้ จะทำให้ค่าเงินทุกสกุลอ่อนค่าลง เช่นเดียวกับค่าเงินบาทของไทยที่หากไม่ทำอะไรต่อไปก็จะหลุด 39 บาทต่อดอลลาร์ และอ่อนไปเรื่อยๆ เช่นกัน ดังนั้นคงต้องดูว่ากนง.จะขึ้นดอกเบี้ย 0.25% หรือ 0.50% ส่วนตัวคิดว่าน่าจะทยอยขึ้นมากกว่า

ทั้งนี้ ค่าเงินบาทที่อ่อนค่านั้นมีทั้งปัจจัยบวกและลบจำเป็นต้องวางสมดุล กล่าวคือจะส่งผลดีต่อภาคส่งออกและการท่องเที่ยว ในมุมกลับกันการนำเข้าจะสูงขึ้นทั้งในแง่วัตถุดิบ เครื่องจักร และที่สำคัญคือ พลังงาน ที่ไทยต้องพึ่งพิงการนำเข้าน้ำมันดิบถึงวันละประมาณ 9 แสนบาร์เรล ยังไม่รวมถึงก๊าซธรรมชาติเหลว อีกทั้งทำให้ไทยต้องจ่ายเพิ่มขึ้นสะท้อนจากการส่งออกล่าสุด 8 เดือนแรกของปี 65 (ม.ค.-ส.ค.) มีมูลค่า 196,446.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 11 % การนำเข้ามีมูลค่า 210,578.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 21.4% ส่งผลให้ไทยขาดดุล 14,131.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ การขาดดุลฯ เหล่านี้ ส่วนใหญ่มาจากการนำเข้าพลังงาน

ทั้งนี้ เงินเฟ้อของไทยมีแนวโน้มยังสูง เพราะเมื่อบาทอ่อนค่าจะไปดันให้การนำเข้าพลังงานของไทยสูงขึ้น เมื่อค่าพลังงานสูง สินค้าต่อเนื่องจากน้ำมัน รวมถึงขนส่งแพงตาม และแน่นอนว่าจะตามมาซึ่งดอกเบี้ยที่สูงอีกในการซ้ำเติมต้นทุนทางการเงิน ยิ่งการผลิตที่เน้นตลาดในประเทศยิ่งกระทบและที่สุดก็ต้องขึ้นราคาสินค้า ค่าครองชีพประชาชนก็จะสูงตามในที่สุด ดังนั้นการขึ้นดอกเบี้ยของเราจึงค่อยๆ ทำเพื่อประคองเศรษฐกิจได้เพราะบริบทของเงินเฟ้อของเราต่างกับสหรัฐฯ

สำหรับการส่งออกของไทยในเดือนส.ค. 65 แม้ว่าจะมีมูลค่า 23,632.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 861,169 ล้านบาท ขยายตัว 7.5% จะพบว่าอัตราการเติบโตเริ่มลดต่ำกว่า 10% ถือเป็นการย่อตัวซึ่งสะท้อนให้เห็นผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่เริ่มถดถอยเช่นกัน อย่างไรก็ตามในช่วง 4 เดือนที่เหลือการเติบโตก็คงจะไม่ได้ร้อนแรงนักทำให้ภาพรวมการส่งออกปี 2565 คาดว่าจะอยู่ในระดับ 8 % ซึ่งก็คงจะต้องติดตามใกล้ชิด

Back to top button