ธปท. ชี้ “เศรษฐกิจไทย” ครึ่งปีหลังฟื้นเด่น รับท่องเที่ยวคึกคัก-ไร้กระทบการเมือง

ธนาคารแห่งประเทศไทย เผยภาวะเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังฟื้นเด่น รับเปิดประเทศหนุนท่องเที่ยวคึกคัก-ไร้กระทบการเมือง


ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ (ธปท.) เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือน ส.ค. ปี 65 ที่ผ่านมายังอยู่ในทิศทางฟื้นตัว โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนทรงตัว ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนปรับดีขึ้นสอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรม สำหรับด้านนักท่องเที่ยวต่างชาติยังคงฟื้นตัวต่อเนื่อง และการใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวจากรายจ่ายประจำ และรายจ่ายลงทุน อย่างไรก็ตาม ด้านมูลค่าการส่งออกปรับลดลงตามอุปสงค์ต่างประเทศที่ชะลอตัวประกอบกับมีปัจจัยกดดันชั่วคราวด้านอุปทาน

โดยในเดือน ส.ค. ปี 65 เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วทรงตัวจากเดือนก่อน ซึ่งปรับเพิ่มขึ้นในเกือบทุกหมวด ยกเว้นหมวดสินค้าไม่คงทน ทั้งนี้ปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อภาคครัวเรือนทยอยปรับดีขึ้น โดยเฉพาะการจ้างงาน และความเชื่อมั่นผู้บริโภค

อย่างไรก็ตามค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูงยังคงเป็นปัจจัยกดดันการบริโภคในภาพรวม โดยหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ปรับเพิ่มขึ้นจากการนำเข้าสินค้าทุนของเอกชน และยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์ ขณะที่หมวดการก่อสร้างปรับดีขึ้นเล็กน้อย ตามยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น และพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างที่ยังทรงตัวในระดับสูง โดยเฉพาะเพื่อที่อยู่อาศัยและอุตสาหกรรม ในส่วนการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในหลายหมวดนั้น โดยเฉพาะหมวดยานยนต์ เนื่องจากผู้ผลิตได้รับชิ้นส่วนการผลิตต่อเนื่องจากเดือนก่อน

นอกจากนี้หมวดอาหาร และเครื่องดื่ม เพิ่มขึ้นตามอุปสงค์ในประเทศที่เพิ่มขึ้น และการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ทั้งนี้การผลิตบางหมวดมีการปรับลดลง เช่น หมวดเคมีภัณฑ์ และหมวดยางและพลาสติก ทางด้านของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนเล็กน้อย ในเกือบทุกกลุ่มสัญชาติเป็นผลจากการผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนขยายตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนจากรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลาง

สำหรับรายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัวจากการลงทุนด้านพลังงานเป็นสำคัญ มูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับลดลงจากเดือนก่อนตามอุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่ชะลอลง โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าเกษตรแปรรูปและโลหะไปจีน ประกอบกับมีปัจจัยกดดันชั่วคราวด้านอุปทานในหมวดปิโตรเลียมจากการบริหารจัดการสินค้าคงคลังของโรงกลั่นน้ำมัน และในหมวดสินค้าเกษตรจากสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก

อย่างไรก็ดีการส่งออกบางหมวดเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน อาทิ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และยานยนต์และชิ้นส่วน ด้านมูลค่าการนำเข้าสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนจากการนำเข้าเชื้อเพลิงทั้งน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ สินค้าอุปโภคและบริโภคตามการนำเข้าสินค้าคงทน ส่วนการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางรวมทั้งสินค้าทุนปรับลดลงจากที่ได้เร่งนำเข้าในเดือนก่อน

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนจากอัตราเงินเฟ้อ หมวดอาหารสดตามราคาผักและผลไม้เป็นสำคัญประกอบกับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้น จากทั้งหมวดอาหารและที่ไม่ใช่อาหาร ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก สำหรับตลาดแรงงานทยอยฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจ สะท้อนจากจำนวนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลลดลงจากดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่ปรับดีขึ้นจากการส่งกลับกำไรของนักลงทุนต่างชาติที่ลดลงเป็นสำคัญ ขณะที่ดุลการค้าขาดดุลมากขึ้นตามมูลค่าการนำเข้าเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ ทางด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าขึ้นตามการคาดการณ์ช่วงเดือน ส.ค.ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดน้อยลง ประกอบกับตลาดมีมุมมองที่ดีขึ้นต่อการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวในไทย

ขณะเดียวกัน นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริการการสื่อสารองค์กร ธปท. กล่าวถึงแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือน ก.ย.65 และระยะต่อไป กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว ส่วนในระยะต่อไปต้องติดตามดูเรื่องการปรับเพิ่มขึ้นของต้นทุน ค่าจ้าง และราคาสินค้า, อุปสงค์ของต่างประเทศที่ชะลอตัว, การแพร่ระบาดของโควิด-19 และนัยต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

“พื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังแข็งแกร่ง แม้ไตรมาส 2 อาจไม่ดีเท่าไหร่ แต่ไตรมาส 3 และไตรมาส 4 คาดว่าจะฟื้นตัวดีต่อเนื่อง” นางสาวชญาวดี กล่าว

ส่วนกรณีที่ธนาคารพาณิชย์จะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนั้น ธปท.จะดูแลเรื่องเงินเฟ้อไม่ให้ปรับตัวสูงขึ้น เพราะจะแก้ไขได้ยาก พร้อมทั้งขอให้ธนาคารพาณิชย์ดูแลลูกหนี้ โดยจะต้องดำเนินการควบคู่กันไปทั้งสองเรื่อง

สำหรับสถานการณ์ทางการเมืองนั้น ไม่ว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไรก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อการเบิกจ่ายภาครัฐ เพราะผ่านกระบวนการพิจารณามาแล้ว และคงไม่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน เพราะไม่ใช่ครั้งแรกที่นักลงทุนจะเจอกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง แต่นักลงทุนจะพิจารณาถึงนโยบายการเงินการคลังจะส่งเสริมและสนับสนุนต่อการเติบโตและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพหรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมายังไม่พบว่ามีปัญหาอะไรที่จะทำให้นักลงทุนหวั่นไหว

Back to top button