เปิดสูตร “ค่า Ft” งวดใหม่ ม.ค.-เม.ย.66 ไฟแพงขึ้น 5.37-6.03 บาท/หน่วย

สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เปิดรับฟังความเห็นประชาชน 3 สูตร “ค่า Ft” งวดใหม่ ม.ค.-เม.ย. 66 ดันไฟแพงขึ้น 5.37-6.03 บาท/หน่วย พร้อมยอมรับต้นทุนค่าไฟสูงจากราคาก๊าซธรรมชาติที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้ายังผันผวน


นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. เปิดเผยว่า การประชุม กกพ.เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายนที่ผ่านมา มีมติรับทราบภาระต้นทุนค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือ Ft ประจำรอบ พฤษภาคม – สิงหาคม 2565 และเห็นชอบผลการคำนวณประมาณค่า Ft สำหรับงวดเดือน มกราคม – เมษายน 2566 โดยมีการนำค่า Ft ประมาณการและแนวทางการจ่ายภาระต้นทุนคงค้างที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ส่งผลให้ค่า Ft ปรับเพิ่มขึ้นโดยแบ่งเป็น 3 กรณีเพื่อเปิดรับฟังความเห็นเห็นจากภาคประชาชนผ่านเว็บไซต์สำนักงาน กกพ.ระหว่างวันที่ 14-27 พฤศจิกายนนี้ ก่อนที่จะพิจารณาและประกาศผลอย่างเป็นทางการวันที่ 1 ธันวาคม 2565 เพื่อประกาศใช้บังคับ

โดย 3 กรณีประกอบด้วย กรณีที่ 1 ค่า Ft เรียกเก็บประจำงวดเดือน มกราคม – เมษายน 2566 จำนวน 224.98 สตางค์ต่อหน่วย แบ่งเป็น Ft ขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน มกราคม – เมษายน 2566 จำนวน 158.31 สตางค์ต่อหน่วย และเงินทยอยเรียกเก็บเพื่อชดเชยต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงบางส่วน 66.67 สตางค์ต่อหน่วยเพื่อให้ กฟผ. ได้รับเงินคืนครบภายใน 1 ปี โดย กฟผ. จะต้องบริหารภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงแทนประชาชนจำนวน 81,505 ล้านบาท ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 6.03 บาทต่อหน่วย

กรณีที่ 2 ค่า Ft เรียกเก็บ มกราคม – เมษายน 2566 จำนวน 191.64 สตางค์ต่อหน่วย แบ่งเป็น Ft ขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือนมกราคม – เมษายน 2566 จำนวน 158.31 สตางค์ต่อหน่วย และเงินทยอยเรียกเก็บเพื่อชดเชยต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงบางส่วน 33.33 สตางค์ต่อหน่วยเพื่อให้ กฟผ. ได้รับเงินคืนครบภายใน 2 ปี โดย กฟผ. จะต้องบริหารภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงแทนประชาชนจำนวน 101,881 ล้านบาท ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 5.70 บาทต่อหน่วย

กรณีที่ 3 ค่า Ft เรียกเก็บประจำงวดเดือน มกราคม – เมษายน 2566 จำนวน 158.31 สตางค์ต่อหน่วย โดย กฟผ. จะต้องรับภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงแทนประชาชนจำนวน 122,257 ล้านบาท ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 5.37 บาทต่อหน่วย

ทั้งนี้ ค่า Ft ในรอบเดือน กันยายน – ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมานั้นปรับเพิ่ม 68.66 สตางค์ต่อหน่วยมาอยู่ที่ 93.43 สตางค์ต่อหน่วย  ทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย ซึ่งหากงวดนี้จะให้คงไว้ที่เดิมก็จะทำให้ กฟผ.ต้องแบกภาระที่เป็นตัวเลขจริงเพิ่มเป็น 1 แสน 7 หมื่นล้านบาท (ตั้งแต่พ.ค.64-ส.ค.65) หากรวมตัวเลขประมาณการณ์ที่ กฟผ.คาดว่าจะเกิดขึ้นในงวด กันยายน – ธันวาคม 2565 อีก 3 หมื่น 4 พันล้านบาท กฟผ.ต้องแบกภาระที่เป็นตัวเลขจริงจะราว 2 แสนล้านบาท

สำหรับค่าไฟฟ้าที่แพงมาจากปัจจัยด้านเชื้อเพลิงเป็นสำคัญ โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติที่เป็นเชื้อเพลิงหลักที่สูงขึ้นกว่างวดก่อนถึง 82.66% รวมถึงถ่านหินนำเข้า นอกจากนี้ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าก็ยังส่งผลต่อต้นทุนรวมเพิ่มขึ้น แม้ว่าจะหันไปใช้น้ำมันเตา และดีเซลแต่ราคาก็ยังคงสูงขึ้นเช่นกัน  โดยสถานการณ์ไฟฟ้าไทยยังอ่อนไหวและยังคงผันผวนระดับสูงจากความไม่แน่นอนก๊าซฯในอ่าวไทยที่แหล่งเอราวัณจะเข้าสู่ภาวะปกติได้มากน้อยเพียงใด เพื่อลดพึ่งพิงนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่มีราคาแพงมาทดแทน

Back to top button