UBA เคาะราคาไอพีโอ 1.70 บ. เปิดจอง 28-30 พ.ย. ปักหมุดเทรด 7 ธ.ค.นี้

UBA เคาะราคาขายไอพีโอ 1.70 บ. เปิดจองซื้อในส่วน Pre-emptive Rights 23-25 พ.ย. ประชาชนทั่วไป 28-30 พ.ย. เข้าเทรด mai 7 ธ.ค.นี้ ชูจุดเด่นหุ้นสาธารณูปโภคอนาคตโตแรง-พร้อมลุยรับงานใหม่เพิ่มอีกมหาศาล


นายเอกจักร บัวหภักดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท แคปปิตอล วัน พาร์ทเนอร์ จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน บริษัท ยูทิลิตี้ บิสิเนส อัลลายแอนซ์ จำกัด (มหาชน ) หรือ UBA เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้กำหนดราคาขายหุ้นสามัญให้กับประชาชนทั่วไป (IPO) จำนวน 170 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 0.50 บาท/หุ้น ในราคาหุ้นละ 1.70 บาท ซึ่งถือเป็นระดับราคาที่เหมาะสมกับปัจจัยพื้นฐานของบริษัทฯ โดยจะเปิดให้จองซื้อหุ้น สำหรับผู้ถือหุ้นเดิมของ UBA ตามสัดส่วนการถือหุ้นใน UBA (Pre-emptive Rights) ระหว่างวันที่ 23 – 25 พฤศจิกายน 2565 และประชาชนทั่วไป วันที่ 28 – 30 พฤศจิกายน 2565 นี้ และคาดว่าจะสามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ (mai) หมวดธุรกิจบริการ ในวันที่ 7 ธันวาคม 2565 นี้ โดยใช้ชื่อย่อในการซื้อขายว่า UBA

สำหรับการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนในครั้งนี้ มีจำนวน 170,000,000 หุ้น คิดเป็น 28.33% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้ โดยแบ่งการเสนอขายออกเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วย 1.เสนอขายให้กับผู้ถือหุ้นของบริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) หรือ NWR ตามสัดส่วนการถือหุ้น UBA (Pre-emptive Right) จำนวนไม่เกิน 15,300,000 หุ้น, 2.บริษัท สยามอีสต์ โซลูชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SE จำนวนไม่เกิน 10,200,000 หุ้น และ 3.เสนอขายต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 144,500,000 หุ้น โดยผ่านผู้ร่วมจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่าย 5 แห่ง ประกอบด้วย บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด, บริษัทหลักทรัพย์ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน), บริษัทหลักทรัพย์ อาร์เอชบี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน), บริษัทหลักทรัพย์ โนมูระ พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) และ บริษัทหลักทรัพย์ ดาโอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)

“การกำหนดราคาไอพีโอที่หุ้นละ 1.70 บาท คิดเป็นอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น(P/E) ประมาณ 15.7 เท่า ซึ่งเป็นระดับราคาที่เหมาะสม สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานของบริษัทฯ ในฐานะผู้นำธุรกิจด้านการให้บริการจัดการน้ำ เดินระบบ และบำรุงรักษาแบบครบวงจร โดยเป็นหุ้นสาธารณูปโภคที่อยู่ในอุตสาหกรรมเมกะเทรนด์และกำลังเป็นที่นิยมในปัจจุบัน รวมถึงมีงานโครงการที่เป็น Backlog ยังไม่ได้ส่งมอบมูลค่ากว่า 1,422 ล้านบาท รวมถึงการขยายงานในอนาคตจากกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นลูกค้ารายหลัก ประกอบกับข้อบังคับทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการบําบัดน้ำเสียที่เข้มงวดมากขึ้น ทำให้มีโอกาสขยายงานเพิ่มขึ้น  ขณะเดียวกันมีผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์ที่โดดเด่น อีกทั้งมีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมมายาวนาน 21 ปี” นายเอกจักร กล่าว

ด้านนายสมชาติ สังหิตกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร UBA กล่าวว่า การเข้าระดมทุนและจดทะเบียนใน mai ในครั้งนี้ จะนำเงินที่ได้จากการระดมทุน ไปใช้ในการลงทุนพัฒนาระบบสารสนเทศ (Information System) ใช้ในการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างสินค้าและบริการใหม่ รวมทั้งเพื่อซื้อและปรับปรุงเครื่องจักรที่ใช้สนับสนุนการดำเนินงาน และชำระคืนเงินกู้สถาบันการเงิน รวมถึงใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการเติบโตให้กับบริษัทฯ รวมถึงโอกาสในการรับงานมากขึ้น ภายใต้จุดแข็งของ UBA ทั้งความได้เปรียบของการบริหารการจัดการแบบครบวงจร ทำให้ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างตรงจุด  มีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในธุรกิจนี้มา 21 ปี  และการครองส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 ของงานระบบบำบัดน้ำเสียตลอดจนมีความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการอุโมงค์ระบายน้ำของ กทม.

“แนวโน้มผลการดำเนินงานในช่วง 1-3 ปี ข้างหน้า คาดว่าจะเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด หลังจากบริษัทฯ ได้เงินระดมทุน ทำให้เราเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน มีศักยภาพในการเข้าร่วมประมูลงานขนาดใหญ่มากขึ้น โดยเฉพาะการรับงานประมูลของกทม.ที่มีแผนก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสีย แผนขยายอุโมงค์ระบายน้ำ รวมทั้งกลุ่มลูกค้าเอกชน มูลค่างานประมาณ 10,000 ล้านบาท ในอีก 5 ปี ข้างหน้า นอกจากนี้การบังคับใช้กฎหมาย ที่เกี่ยวข้องกับการบําบัดน้ำเสียที่เข้มงวดขึ้น จึงคาดว่าบริษัทจะมีรายได้ที่เพิ่มขึ้นได้อย่างน่าสนใจ” นายสมชาติ กล่าว

สำหรับภาพรวมผลการดำเนินงานของ UBA ในปี 2562 ถึง 2564 และงวดเก้าเดือนแรก ปี 2565 บริษัทฯ มีรายได้รวม 432.40 ล้านบาท 532.69 ล้านบาท 533.59 ล้านบาท และ 553.50 ล้านบาท ตามลำดับ ส่วนกำไรสุทธิของบริษัทฯ ในช่วงปี 2562 ถึง 2564 และงวดเก้าเดือนแรกปี 2565 เท่ากับ 18.30 ล้านบาท 43.43 ล้านบาท 52.35 ล้านบาท และ 50.82 ล้านบาท ตามลำดับ หรือคิดเป็นอัตรากำไรสุทธิเท่ากับ 4.23%, 8.16%, 9.82% และ 9.53% ตามลำดับ

Back to top button