SAMART มั่นใจปีนี้พลิกกำไร วางเป้ารายได้โต 75% ตุนแบ็กล็อกแน่น 2.2 หมื่นล้าน

SAMART มั่นใจปีนี้พลิกกำไร วางเป้ารายได้โต 75% ตุนแบ็กล็อกแน่น 2.2 หมื่นล้าน พร้อมปัดฝุ่นไฟลิ่ง SAV รอบใหม่ปลาย มี.ค.-เม.ย. คาดเข้าเทรดใน SET ก.ย.นี้


นายวัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ รองประธานกรรมการบริหาร ฝ่ายกลยุทธ์องค์กรและพัฒนาธุรกิจใหม่ บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAMART เปิดเผยว่า บริษัทฯมั่นใจปี 66 พลิกกลับมามีกำไรสุทธิ จากปีก่อนยอมรับว่าขาดทุน และคาดรายได้เติบโต 75% เป็น 16,000 ล้านบาท เป็นไปตามการขยายตัวของ 3 ธุรกิจหลัก ทั้งธุรกิจ Digital ICT Solution, ธุรกิจ Utilities &Transportations และธุรกิจ Digital Communications

ปัจจุบันบริษัทฯ มีงานในมือ (Backlog) รวมทุกกลุ่มธุรกิจอยู่ที่ 21,800 ล้านบาท คาดจะรับรู้รายได้ในปีนี้ 9,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะสามารถรับรู้ในปีถัดไป ขณะที่ก็ต้องหาเพิ่มอีก 7,000 ล้านบาท เพื่อให้ถึงเป้าหมายที่วางไว้

“กลุ่มบริษัทสามารถกำหนดให้ปี 66 เป็นปีของการ Take off to Sustainability เพื่อตอกย้ำความมุ่งมั่นในการสร้างองค์กรที่เติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน โดยมีปัจจัยบวก อาทิ การเปิดประเทศ การกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน การเร่งพัฒนาองค์กรภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะหน่วยงาน Public Services ให้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการประชาชนในยุคดิจิทัล ทั้งหมดล้วนส่งผลบวกต่อโอกาสทางธุรกิจของกลุ่มสามารถ” นายวัฒน์ชัย กล่าว

สายธุรกิจ Digital ICT Solution ตั้งเป้ารายได้ปี 66 เติบโต 14% เป็น 6,000 ล้านบาท จากปี 65 ทำได้ 4,641 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่จะมาจากบมจ. สามารถเทลคอม (SAMTEL) คาดมีผลประกอบการเพิ่มขึ้นประมาณ 13% เนื่องจากในปีที่ผ่านมาได้มีการเซ็นสัญญาโครงการใหม่ มูลค่ารวม 5,300 ล้านบาท ส่งผลให้มีมูลค่างานในมือปัจจุบันถึง 7,300 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถรับรู้รายได้ในปีนี้ราว 3,000 ล้านบาท ขณะที่ก็จะเดินหน้าเต็มกำลัง มุ่งโฟกัส

  1. ผลิตภัณฑ์ บริการ และโซลูชั่นที่หลากหลายเพื่อลูกค้ากลุ่ม Utility เช่น Enterprise Resource Planning (ERP) in Utilities, Meters & Infrastructure, Computerized Maintenance Management System (CMMS), Enterprise Asset Management (EAM), Mobile Workforce
  2. ผลิตภัณฑ์ บริการ โซลูชั่น เพื่อการรักษาความปลอดภัย เช่น Smart Surveillance, Cyber Security Service & Implementation, Extended Reaction & Response (XDR) Security Platform, Operational Technology (OT) Security Monitoring
  3. นำเสนอดิจิทัลโซลูชั่น เพื่อยกระดับบริการภาครัฐ ในการให้บริการแก่ประชาชน ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และถูกต้องแม่นยำ

ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าทุกโซลูชั่นส์ที่บริษัทมุ่งเน้น สามารถตอบโจทย์การบริหารจัดการทรัพยากรและการพัฒนาองค์กรในยุคดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพ จึงน่าจะมีโอกาสในการต่อยอดและการขยายฐานลูกค้าใหม่ได้ตามที่คาดหวัง โดยตั้งเป้าในการเซ็นสัญญาใหม่ในปีนี้ 10,500 ล้านบาท หนุนงานในมือเพิ่มมากกว่า 10,000 ล้านบาท

– สายธุรกิจ Utilities & Transportations ตั้งเป้ารายได้ที่ 5,000 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 22% โดยภายใต้สายธุรกิจ U-trans ในปี 66 ยังคาดการณ์การเติบโตที่ต่อเนื่องในทุกธุรกิจ โดยเฉพาะ CATS ผู้ให้บริการควบคุมการจราจรทางอากาศในประเทศกัมพูชา เนื่องด้วยบริษัทฯ มีแผนนำบริษัท Samart Aviation Solutions หรือ SAV ซึ่งถือหุ้น CATS เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยคาดจะสามารถยื่นไฟลิ่งต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อีกครั้ง ในช่วงปลายเดือนมี.ค.-ต้นเดือนเม.ย.นี้ และคาดว่าจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ในช่วงเดือนก.ย.66

SAV มีการยื่นไฟลิ่งไปแล้วในช่วงปี 63 แต่ไม่ได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เข้ามากระทบกับธุรกิจค่อยข้างมาก ทำให้บริษัทไม่สามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้

ขณะที่ในปี 65 CATS เริ่มมีรายได้ฟื้นตัวอย่างชัดเจนจากจำนวนเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้นแล้ว และยังได้รับการต่ออายุสัมปทานอีก 10 ปี รวมอายุสัมปทานทั้งสิ้น 49 ปี ให้บริการมาแล้ว 20 ปี จึงยังคงเหลืออายุสัมปทานถึง 29 ปี โดยปีนี้คาดว่า CATS จะมีรายได้เพิ่มขึ้น 14% และมีแนวโน้มการเติบโตที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการที่รัฐบาลกัมพูชามีนโยบายเร่งส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ตลอดจนมีแผนการเปิดสนามบินนานาชาติแห่งใหม่ถึง 3 แห่งในเร็วๆนี้

– ธุรกิจด้านสถานีและสายส่งไฟฟ้า โดยบริษัทเทด้าและทรานเส็ค ก็มีผลการดำเนินธุรกิจที่บรรลุเป้าในปีที่ผ่านมา ส่งผลให้มี Backlog รวมกัน 2,700 ล้านบาท และมีโอกาสสูงในการได้งานใหม่เพิ่มเติมอีกในปีนี้

– ด้านโครงการ Direct Coding หลังเริ่มให้บริการในเดือน พ.ค.65 ส่งผลให้บริษัทมีรายได้จำนวน 620 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา และในปีนี้ คาดว่าจะรับรู้รายได้จำนวน 980 ล้านบาท สูงขึ้นจากการเปิดเมืองและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น โดยบริษัทจะรับรู้รายได้รวม 7 ปีต่อเนื่อง ซึ่งจากประโยชน์ของระบบพิมพ์รหัสควบคุมบนบรรจุภัณฑ์ หรือ Direct Coding นี้ ก็มีโอกาสขยายบริการไปสู่การจัดเก็บภาษีสินค้าอื่นๆ ในอนาคต

ปิดท้ายในสายธุรกิจ U-trans ด้วย บริษัท Vision and Security ผู้ให้บริการกล้องวงจรปิดครบวงจร มีรายได้ในปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่น ด้วยผลงานการติดตั้งกล้องวงจรปิดภาคใต้ โดยในปีนี้ยังมีโอกาสในการติดตั้งระบบ CCTV ในโครงการอสังหารายใหญ่ ซึ่งจะส่งผลให้สามารถต่อยอดและขยายฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นในภาคเอกชน

สายธุรกิจ Digital Communications ภายใต้บมจ.สามารถดิจิตอล (SDC) คาดมีรายได้ปีนี้เติบโต 500% แตะ 5,000 ล้านบาท โดยมั่นใจจะพลิกฟื้นด้วยบริการ DTRS และบริการสายมูครบครัน

ธุรกิจหลักในการฟื้นรายได้ของสายธุรกิจนี้ คือ การให้บริการ Digital Trunk Radio ซึ่งต้องใช้เวลา ทั้งในการวางระบบและการขยายฐานผู้ใช้บริการ แต่ก็คุ้มค่า เพราะจะนำมาซึ่งรายได้ประจำที่มั่นคงในอนาคต ปัจจุบันการวางระบบเครือข่ายครอบคลุมพื้นที่สำคัญแล้วทั่วประเทศ โดยมีจำนวนผู้ใช้บริการค่อยๆ เติบโตเพิ่มขึ้น ในปีนี้ บริษัทตั้งเป้าจำนวนผู้ใช้บริการไม่ต่ำกว่า 120,000 ราย และมีโอกาสเพิ่มจำนวนผู้ใช้บริการอย่างก้าวกระโดดเมื่อโครงการ National Trunk Network มีความชัดเจน

นอกจากนี้ เพื่อสร้างแหล่งรายได้ใหม่ซึ่งถูกจริตคนไทยและคนเอเชีย ที่มีโอกาสเติบโตในยุคดิจิทัล บริษัทจึงเร่งพัฒนาบริการ Application Horoworld และ Thai Merit รวมทั้งบริการสายมูที่แตกต่างและครบวงจรอื่นๆ โดยนอกจากจะให้บริการตรงแก่ Consumer แล้ว ยังเน้นการให้บริการผ่านพันธมิตรในหลากหลายธุรกิจ อาทิ ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ, ธนาคาร, Social Platform, โรงพยาบาล, สายการบิน เป็นต้น

Back to top button