GPSC ต้นทุนขายพุ่ง-รายการพิเศษลด ฉุดกำไรปี 65 เหลือ 891 ล้าน แจกปันผล 0.30 บ.

GPSC รางานกำไรปี 65 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 891 ล้านบาท ลดลง 88% จากปีก่อนมีกำไรสุทธิ 7,318.58 ล้านบาท เซ่นต้นทุนขายเพิ่มขึ้นและรายการพิเศษลดลง แจกปันผล 0.30 บาท


บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC รายงานผลการดำเนินงานปี 65 สิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค.2565 ดังนี้

โดยบริษัทรายงานงวดประจำปี 65 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 891.45 ล้านบาท ลดลง 88% จากงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 7,318.58 ล้านบาท สาเหตุจากกำไรขั้นต้นของโรงไฟฟ้า SPP ลดลง 8,770 ล้านบาท สาเหตุหลักจากราคาก๊าซธรรมชาติและถ่านหินที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก ทำให้มาร์จิ้นจากการขายไฟฟ้าให้กับลูกค้าอุตสาหกรรมลดลง ในขณะที่ค่า Ft ยังไม่สามารถปรับตัวได้ทันราคาต้นทุนเชื้อเพลิง

นอกจากนี้ยังมีกำไรก่อนผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนและรายการพิเศษอยู่ที่ 1,398 ล้านบาท ลดลง 82% จากงวดเดียวกันของปีก่อน 7,934 ล้านบาท

อีกทั้งต้นทุนขาย (ไม่รวมค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย) ขาดทุนอยู่ที่ 111,814 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้น 103% จากงวดเดียวกันของปีก่อนขาดทุน 55,206 ล้านบาท

ทั้งนี้บริษัทประกาศจ่ายปันผลจากกำไรสะสม เป็นเงินสด 0.30 บาท กำหนดวันที่ไม่ได้รับสิทธิปันผล (XD) วันที่ 24 ก.พ.66 และกำหนดจ่าย 19 เม.ย. 66

ด้านนายวรวัฒน์ พิทยศิริ   ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้ากลุ่ม ปตท. เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานปี 2565 บริษัทฯ มีรายได้รวมทั้งสิ้น 123,685 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น 65% เมื่อเทียบกับปี 2564 โดยมีกำไรสุทธิ รวมทั้งสิ้น 891 ล้านบาท ลดลง 6,428 ล้านบาท หรือ 88% จากปี 2564 ปัจจัยหลักมาจากกำไรขั้นต้นของโรงไฟฟ้าผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ลดลง 8,770 ล้านบาท เนื่องจากราคาก๊าซธรรมชาติและถ่านหินที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ margin จากการขายไฟฟ้าให้กับลูกค้าอุตสาหกรรมลดลง ในขณะที่อัตราค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) ยังไม่สามารถปรับตัวได้ทันราคาต้นทุนเชื้อเพลิง

อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ได้รับปัจจัยบวกจากกำไรขั้นต้นของโรงไฟฟ้าผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ (IPP) เพิ่มขึ้น 1,200 ล้านบาทจากการเดินเครื่องผลิตของโรงไฟฟ้าศรีราชา และโกลว์ไอพีพี ที่ใช้เชื้อเพลิงน้ำมันดีเซลแทนก๊าซธรรมชาติ ทำให้มี margin จากการขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ประกอบกับโรงไฟฟ้าศรีราชามีปริมาณการขายไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นสอดคล้องกับแผนการเรียกรับไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ขณะเดียวกันยังได้รับส่วนแบ่งกำไรของโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี เพิ่มขึ้น 330 ล้านบาท เนื่องจากมีปริมาณน้ำในการผลิตกระแสไฟฟ้ามากกว่าปี 2564

สำหรับผลการดำเนินงานในไตรมาส 4/2565 มีรายได้รวม 34,839 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น 58% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ขณะที่มีผลขาดทุนสุทธิรวมทั้งสิ้น 436 ล้านบาท ปรับตัวลดลง 137% เมื่อเทียบกับกำไรในไตรมาส 4/2564 และเมื่อเทียบกับไตรมาส 3/2565 (QoQ) ปรับตัวลดลง 232% ปัจจัยหลักมาจากราคาก๊าซธรรมชาติ และถ่านหินอยู่ในระดับสูงขึ้นอย่างมาก ส่งผลให้มาร์จินจากการขายไฟฟ้าให้กับกลุ่มอุตสาหกรรมลดลง แม้ว่าในช่วงเดือนกันยายนจะมีการปรับค่า Ft เพิ่มขึ้นเป็น 93.43 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้สามารถชดเชยต้นทุนเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นได้บางส่วน ประกอบกับในไตรมาสนี้ปริมาณการขายไฟฟ้าและไอน้ำให้กับลูกค้าอุตสาหกรรมปรับตัวลดลง เนื่องจากลูกค้าอุตสาหกรรมหยุดซ่อมบำรุง

อีกทั้งมีการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรของโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีปรับตัวลดลงตามฤดูกาล  อย่างไรก็ตาม ในส่วนผลการดำเนินงาน IPP มีรายได้ และกำไรที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจาก กฟผ. มีการเรียกไฟฟ้าเข้าระบบเพิ่มขึ้น ขณะที่มีการใช้น้ำมันดีเซลเข้ามาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าแทนก๊าซธรรมชาติ ทำให้มาร์จินจากการขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้น และมีการรับรู้รายได้จากค่า เคลมประกันภัยของโรงไฟฟ้าโกลว์พลังงานระยะที่ 5 บางส่วน

ทั้งนี้ ในปี 2565 บริษัทฯ มีการรับรู้มูลค่า Synergy ร่วมกับ GLOW สุทธิหลังภาษีจำนวน 2,740 ล้านบาท จากการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารการผลิต โดยการใช้โครงข่ายไฟฟ้าร่วมกัน การบริหารส่วนการพาณิชย์ด้านต้นทุนการผลิต การขยายฐานลูกค้า และการบริหารจัดการหุ้นกู้ ทำให้บริษัทสามารถลดต้นทุนหลังจากการควบรวมมาอย่างต่อเนื่อง

นายวรวัฒน์ กล่าวว่าแม้ว่าปี 2565 จะเป็นปีที่บริษัทฯ เผชิญกับความท้าทายจากปัจจัยภายนอกที่เข้ามา แต่บริษัทฯ ยังคงดำเนินธุรกิจที่มุ่งเน้นการให้ความสำคัญกับสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อมุ่งสู่การเป็นบริษัทผลิตไฟฟ้าชั้นนําด้านนวัตกรรมและความยั่งยืนในระดับสากล ทำให้บริษัทฯ ประสบความสำเร็จในการได้รับการคัดเลือกเป็นสมาชิกดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices -DJSI) ในกลุ่มดัชนีตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets Index) ประเภทอุตสาหกรรมสาธารณูปโภคโรงไฟฟ้า ซึ่งเป็นปีแรกด้วยคะแนนมิติด้านสังคมสูงสุดเป็นอันดับหนึ่งของกลุ่มสาธารณูปโภคโรงไฟฟ้าทั่วโลก สะท้อนความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนธุรกิจด้วยนวัตกรรมพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งบริษัทฯ ได้ตั้งเป้าในการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากกว่า 50% ในปี 2573

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมุ่งมั่นที่จะแสวงหาโอกาสร่วมมือกับพันธมิตรในการศึกษาและลงทุนในพื้นที่ที่มีศักยภาพตามกลยุทธ์ 4S ประกอบด้วย S1: Strengthen and Expand the Core การสร้างความแข็งแกร่งที่เน้นการเพิ่มประสิทธิภาพโรงไฟฟ้าให้มากขึ้น S2: Scale-Up Green Energy มุ่งเพิ่มสัดส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน  S3: S-Curve & Batteries การพัฒนานวัตกรรมพลังงานและธุรกิจแห่งอนาคต S4: Shift to Customer-Centric Solutions บริการโซลูชั่นเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าเป็นสำคัญ ทั้งในด้านการผลิตไฟฟ้าและสาธารณูปโภค เพื่อมุ่งสู่การเป็นองค์กรก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ รวมทั้งยังได้กำหนด   กลยุทธ์หลักในการพัฒนาพลังงานสะอาดให้เติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งได้รับการยอมรับกระทั่งได้รับรางวัลทั้งในประเทศและระดับสากลหลายแห่ง

นอกจากนี้ ในปี 2566 คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้เห็นชอบการปรับค่า Ft แบ่งออกเป็น 2 กรณี สำหรับเรียกเก็บรอบเดือนมกราคม-เดือนเมษายน 2566 กรณีสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านที่อยู่อาศัยเรียกเก็บในอัตราเดิม 93.43 สตางค์ต่อหน่วย สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่นๆ เรียกเก็บที่ 154.92 สตางค์ต่อหน่วย เพิ่มขึ้นจาก 61.49 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งสถานการณ์พลังงานยังมีราคาที่ผันผวนสูง เป็นปัจจัยสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจ ที่ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานในทุกด้าน เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับปัจจัยเสี่ยงในด้านต่างๆ

Back to top button