BOI อัดงบ 5.6 หมื่นล้าน หนุนลงทุน 4 โปรเจกต์ใหญ่ เน้นพลังงาน-ดาต้าเซ็นเตอร์

บอร์ด BOI เคาะส่งเสริมลงทุน 4 โปรเจกต์ใหญ่ วงเงิน 5.66 หมื่นล้าน เน้นพลังงาน-ดาต้าเซ็นเตอร์-อุตสาหกรรมโลหะ


นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ดบีโอไอ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธาน ได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ รวมมูลค่า 56,615 ล้านบาท เพื่อเสริมความแข็งแกร่งโครงสร้างพื้นฐานในด้านพลังงานของประเทศ ประกอบด้วย

 -โครงการท่าเทียบเรือขนถ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) มูลค่าเงินลงทุน 32,710 ล้านบาท

-โครงการโรงไฟฟ้าระบบ Cogeneration ซึ่งเป็นโครงการร่วมทุนระหว่างไทยและสิงคโปร์ มูลค่าเงินลงทุน 5,005 ล้านบาท

-การส่งเสริมกิจการดาต้า เซ็นเตอร์ ขนาดใหญ่ 2 ราย มูลค่าเงินลงทุนรวม 10,371 ล้านบาท โดยหนึ่งในนั้นเป็นโครงการร่วมทุนระหว่างอังกฤษและสิงคโปร์ ซึ่งเป็นกิจการดาต้า เซ็นเตอร์ ที่เน้นความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและจะใช้พลังงานหมุนเวียน เพื่อลด Carbon Footprint ด้วย เพื่อตอบสนองการเติบโตอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมดิจิทัล โดยเฉพาะความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นสำหรับบริการด้านการจัดการและจัดเก็บข้อมูลขนาดใหญ่ขององค์กรทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งการใช้งานแพลตฟอร์มต่างๆ

-โครงการผลิตเหล็กแผ่นรีดเย็นเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตชิ้นส่วนต่าง ๆ ในอุตสาหกรรมยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้า โครงการผลิตโลหะทองคำและเงินภายใต้รูปแบบโลหะผสม และโครงการกำจัดของเสียอุตสาหกรรม มูลค่าเงินลงทุนรวมกว่า 8,500 ล้านบาท

“โครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในครั้งนี้ เป็นโครงการที่ช่วยเสริมความแข็งแกร่งด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ทั้งพลังงาน และดิจิทัล รวมทั้งกิจการสนับสนุนภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ รวมถึงการโยกย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทย เพื่อให้เป็นฐานธุรกิจหลักในภูมิภาค อีกทั้งจะช่วยเสริมสร้างศักยภาพในการเป็นดิจิทัลฮับของประเทศไทย หลังจากที่ก่อนหน้านี้ บริษัท อเมซอน เว็บ เซอร์วิส (AWS) ได้ประกาศลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระบบคลาวด์ในไทยด้วยเงินลงทุนที่สูงถึง 1.9 แสนล้านบาท ในระยะ 15 ปี” นายนฤตม์ กล่าว

*ปรับปรุงอุตสาหกรรมเป้าหมายของ LTR Visa

เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม. )เห็นชอบให้ปรับปรุงคุณสมบัติและหลักเกณฑ์ ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย (Long-Term Resident Visa: LTR Visa) เพื่อให้การดึงดูดผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษเป็นไปตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนด อีกทั้งมีความยืดหยุ่นในการรับรองคุณสมบัติมากขึ้น โดยบีโอไอได้เสนอให้เพิ่มเติมและปรับปรุงอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อรับรองคุณสมบัติแก่ชาวต่างชาติที่มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษในสาขาที่ประเทศยังขาดแคลน (Highly Skilled Professional) รวม 15 สาขา ได้แก่ 1.อุตสาหกรรมยานยนต์, 2.อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์, 3.อุตสาหกรรมท่องเที่ยวระดับคุณภาพ, 4.อุตสาหกรรมการเกษตร อาหารและเทคโนโลยีชีวภาพ,5.อุตสาหกรรมขนส่งและโลจิสติกส์,6.อุตสาหกรรมระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์, 7.อุตสาหกรรมการบิน อากาศยานและอวกาศ,8.อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ,9.อุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์, 10.อุตสาหกรรมดิจิทัล, 11.อุตสาหกรรมการแพทย์, 12.อุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ, 13.อุตสาหกรรมที่สนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียนโดยตรง เช่น การผลิตเชื้อเพลิงจากขยะ การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ,14 ศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ (IBC),15อุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ต้องทำงานโดยใช้ทักษะเชี่ยวชาญพิเศษในด้านใดด้านหนึ่ง เช่น นักวิจัยในสาขาอุตสาหกรรมหรือเทคโนโลยีเป้าหมาย หรือผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ ทั้งเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ระบบดิจิทัล การเงิน สิ่งแวดล้อมและพลังงาน ผู้เชี่ยวชาญในโครงการบ่มเพาะสตาร์ทอัป รวมทั้งองค์กรส่งเสริมการค้าและการลงทุนจากต่างประเทศ

“การเพิ่มและปรับปรุงอุตสาหกรรมเป้าหมายของ LTR Visa ในครั้งนี้ เพื่อให้ครอบคลุมอุตสาหกรรมเป้าหมาย และทักษะความเชี่ยวชาญในสาขาที่มีความสำคัญและประเทศยังขาดแคลน โดยเปิดโอกาสให้ชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงกลุ่มนี้ สามารถได้รับ LTR Visa เพื่อเข้ามาทำงานร่วมกับบุคลากรไทย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการถ่ายทอดองค์ความรู้ และการพัฒนาเศรษฐกิจการลงทุนของไทยได้ในระยะยาว โดยปัจจุบันมีชาวต่างชาติมายื่นขอ LTR Visa แล้วกว่า 3,000 ราย ส่วนใหญ่เป็นชาวอเมริกัน จีน และยุโรป” นายนฤตม์ กล่าว

Back to top button