สมุน “ณพ” ล้วงเงิน WEH จ่ายทนายส่วนตัว! ศาลสั่งใช้อ่วม 3 ร้อยล้าน ตัวไฮโซถูกแยกฟ้องแพ่ง

“ศาลแรงงาน” พิพากษาอดีต 4 ผู้บริหาร “วินด์เอนเนอร์ยี่” อ้วน ณัฐวุฒิ, ธันว์, เอ็มม่า, อมาน ร่วมชดใช้ 308 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ย หลังพบทุจริตล้วงเงินบริษัทจ่ายค่าทนายสู้คดีศาลอังกฤษ ฟาก “ณพ ณรงค์เดช” อ้างตัวไม่ใช่ลูกจ้าง! โดนย้อนศรถูกแยกฟ้องศาลแพ่งฯ นัดไต่สวน 26 มิ.ย.นี้


ผู้สื่อข่าวรายงาน จากกรณีที่บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด หรือ WEH ได้ยื่นฟ้องนายณพ ณรงค์เดช อดีตผู้บริหารและกรรมการ และรวมถึงอดีตผู้บริหาร และกรรมการคนอื่นๆ อีกจำนวน 4 ราย ต่อศาลแรงงานกลาง ภายหลังนายณพ และพวก ควบคุมหรือสั่งการให้ WEH เข้าไปมีส่วนร่วมรับผิดชอบคดีที่ นายนพพร ศุภพิพัฒน์ อดีตผู้ก่อตั้งและผู้บริหาร WEH ยื่นฟ้องร้องคดีจำเลยจำนวน 17 รายที่ศาลในประเทศอังกฤษ โดยพบพฤติการณ์สมคบกันชักจูงใจด้วยข้อมูลลวงให้ตนขายหุ้น WEH ในราคาต่ำกว่ามูลค่าให้แก่นายณพ

ทั้งนี้ในกลุ่มจำเลยคดีดังกล่าวมีชื่อของ นายณพ ณรงค์เดช, นางเอมม่า ลูอิส คอลลินส์, นายธันว์ เหรียญสุวรรณ, และนายอมาน ลาคานี ทำให้ นางเอมม่า นายธันว์ และนายอมาน ได้ปรึกษาทนายความที่ประเทศอังกฤษแล้วเสนอให้ WEH เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายสำหรับการดำเนินคดีที่ประเทศอังกฤษ จึงได้เสนอเรื่องให้นายณพ ในฐานะกรรมการบริหาร และนายณัฐวุฒิ เภาโบรมย์ กรรมการผู้มีอำนาจลงนามในขณะนั้นได้พิจารณา และดำเนินการทำหนังสือตกลงชดใช้ค่าเสียหายในการต่อสู้คดีข้างต้น

จึงเป็นสาเหตุของการที่ WEH ยื่นฟ้องต่อศาล โดยให้ นายณพ ณรงค์เดช เป็นจำเลยที่ 1 นายณัฐวุฒิ เภาโบรมย์ เป็นจำเลยที่ 2 นายธันว์ เหรียญสุวรรณ เป็นจำเลยที่ 3 นางเอมม่า ลูอิส คอลลินส์ เป็นจำเลยที่ 4 และนายอมาน ลาคานี เป็นจำเลยที่ 5 ทั้งนี้เพื่อให้จำเลยทั้งหมดได้ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย ภายหลังนำเงินของบริษัทฯ จำนวนกว่า 300 ล้านบาท ไปจ่ายเป็นค่าทนายความเพื่อสู้คดีส่วนตัวที่ประเทศอังกฤษ

โดยคดีนี้ นายณัฐวุฒิ นายธันว์ นางเอมม่า และนายอมาน เบิกความต่อศาลแรงงานฯ ถึงเหตุผลที่นำเงินของ WEH ไปจ่ายค่าทนายความที่ประเทศอังกฤษ เนื่องจากคดีที่ถูกนายนพพรฟ้องร้องเกิดจากการทำงานในฐานะลูกจ้างของ WEH ซึ่งได้มีการเข้าไปช่วยเหลือกิจการ และแก้ไขปัญหาทางด้านการเงินแก่ WEH จึงเห็นว่า บริษัทฯต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในการดำเนินคดี

ขณะเดียวกัน นายธันว์ เบิกความต่อศาลอีกว่า ทันทีที่สามารถแก้ไขปัญหาทางด้านการเงินให้กับ WEH ได้แล้ว ตนได้รับหุ้นของ WEH เป็นการตอบแทนการบริหารงาน โดยที่นายเกษม ณรงค์เดช บิดาของนายณพ หลังจากได้รับโอนหุ้น WEH มาจากนายณพแล้ว ได้โอนหุ้นต่อให้นายธันว์ นางเอมม่า และนายอมาน ก่อนที่บุคคลทั้งสาม จะมีการโอนหุ้นต่อไปยัง “บริษัทออฟชอร์” ที่แต่ละคนมีชื่อเป็นเจ้าของหรือผู้รับประโยชน์สูงสุด (Ultimate Beneficiary) นอกจากนั้น นายอมาน ยังได้โอนหุ้น WEH บางส่วนไปให้กับภรรยาของตัวเองด้วย

อย่างไรก็ตาม จากการรับฟังความที่นายณัฐวุฒิ ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม เบิกความต่อศาลรับฟังได้ว่า ในคดีนี้แม้นายธันว์ นางเอมม่า และนายอมาน จะยืนยันว่าพวกตนทำหน้าที่บริหาร WEH ในฐานะลูกจ้างของบริษัท แต่หุ้น WEH ที่ถูกนายนพพรฟ้องร้องได้ถูกโอนไปยัง 3 บริษัทที่มีชื่อของนายธันว์ นางเอมม่า และนายอมาน เป็นเจ้าของ โดยไม่ปรากฏว่า ทั้ง 3 บริษัทเป็นบริษัทในเครือของ WEH รวมถึงภรรยาของนายอมาน ก็ไม่ใช่ลูกจ้างของ WEH

เช่นนั้นการที่นายธันว์ นางเอมม่า นายอมาน และบริษัททั้ง 3 รวมถึงภรรยาของนายอมาน เข้าไปมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้น และถูกฟ้องดำเนินคดี เนื่องจากได้รับโอนหุ้นเป็นการส่วนตัวจากนายเกษม จากข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า WEH ไม่มีความผูกพันที่จะต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีให้แก่สำนักงานกฎหมายสองแห่งในประเทศอังกฤษแทนนายธันว์ นางเอมม่า นายอมาน และบริษัททั้ง 3 แห่ง รวมถึงภรรยาของนายอมานด้วย

คดีนี้จึงเป็นกรณีที่ลูกจ้างใช้หน้าที่ของตนแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายเพื่อตนเองหรือผู้อื่น อันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่

การกระทำของนายณัฐวุฒิ ซึ่งเป็นลูกจ้างและกรรมการผู้มีอำนาจของในขณะนั้น รวมถึงนายธันว์ นางเอมม่า นายอมาน จึงผิดสัญญาจ้างแรงงาน และเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อ WEH จนได้รับความเสียหายจากการถูกนำเงินไปใช้เป็นค่าใช้จ่ายในคดีที่ประเทศอังกฤษ ศาลแรงงานกลางจึงมีคำพิพากษาให้นายณัฐวุฒิ นายธันว์ นางเอมม่า และนายอมาน ร่วมกันชดใช้เงินจำนวน 308,049,961.05 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปีของต้นเงิน นับจากวันที่มีการเบิกจ่ายเงินออกจากบริษัทฯ

ส่วนกรณีของ นายณพ ณรงค์เดช จำเลยที่ 1 ในคดีนี้ซึ่งไม่ปรากฏว่า ศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษาใดออกมา เนื่องจากมีรายงานว่า นายณพ เบิกความต่อศาลฯว่า การเข้ามาบริหารงานใน WEH ตนไม่ได้เข้ามาในฐานะลูกจ้าง จึงไม่อยู่ในอำนาจที่ศาลแรงงานกลางจะพิจารณาได้

ภายหลัง WEH จึงนำเรื่องดังกล่าวไปฟ้องร้องต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ บนเนื้อคดีที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน โดยมีนายณพ ภรรยานายอมาน (นางคาดิจา) และบริษัททั้ง 3 แห่งของนายธันว์ นางเอมม่า และนายอมาน เป็นจำเลยในคดีนี้ โดยศาลกำหนดนัดไต่ส่วนคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวเงินปันผลของ 3 บริษัทข้างต้น ในวันที่ 26 มิถุนายน 2566 ก่อนจะมีการนัดสืบพยานในลำดับต่อไป

Back to top button