ด่วน! เวียดนามแจ้งดับไฟหลายพื้นที่ หลังเผชิญปัญหาขาดแคลน กำลังผลิตสำรองไม่เพียงพอ

ด่วน! เวียดนามแจ้งดับไฟหลายพื้นที่ หลังเผชิญปัญหาขาดแคลน กำลังผลิตสำรองไม่เพียงพอ เหตุจากคลื่นความร้อนสูงและสภาพอากาศแปรปรวน ส่งผลให้การผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำลดลง ขณะที่ ณ ปัจจุบัน ไฟสาธารณะในกรุงฮานอยถูกปรับให้เปิดช้าขึ้น 30 นาที และปิดเร็วขึ้น 30 นาที


กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนามแถลงวานนี้ (25 พ.ค.) ว่า ขณะนี้หน่วยงานท้องถิ่นในหลายเมืองได้ทำการปรับลดช่วงเวลาการใช้ไฟในที่สาธารณะ และงดใช้ไฟในบางพื้นที่ เนื่องจากประเทศกำลังประสบปัญหาขาดแคลนไฟฟ้า จากคลื่นความร้อนสูงและสภาพอากาศแปรปรวน ส่งผลให้การผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำลดลง

ก่อนหน้านี้ การไฟฟ้าเวียดนาม (EVN) ได้ออกคำเตือนเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาว่า ประเทศจะเผชิญปัญหาขาดแคลนพลังงาน เนื่องจากมีแนวโน้มว่าการใช้ไฟฟ้าจะปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วจากคลื่นความร้อนที่สูงกว่าคาดการณ์ ขณะเดียวกันน้ำในเขื่อนบางแห่งอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ ส่งผลกระทบอบ่างหนักต่อการผลิตไฟฟ้า

กระทรวงฯ กล่าวว่า มาตรการประหยัดไฟฟ้าถูกนำมาใช้เพื่อรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงทางพลังงาน และเพื่อให้ครัวเรือนและอุตสาหกรรมมีไฟฟ้าเพียงพอสำหรับการบริโภค อีกทั้งเพื่อพยุงภาคการผลิตที่เริ่มเห็นสัญญาณการชะลอตัว

โดย ณ ปัจจุบัน ไฟสาธารณะในกรุงฮานอยถูกปรับให้เปิดช้าขึ้น 30 นาที และปิดเร็วขึ้น 30 นาที ขณะที่ไฟฟ้าตลอดเส้นทางสัญจรหลักบางแห่งครึ่งหนึ่งถูกปิดการใช้งานชั่วคราว เช่นเดียวกับไฟฟ้าในสวนสาธารณะ

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 15 พ.ค. รัฐบาลเวียดนามอนุมัติแผนการลดการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน และการพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าของประเทศ ภายในปี 2573 หลังล่าช้ากว่า 2 ปี โดยแผนการดังกล่าวจะใช้งบประมาณราว 134,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อรับรองความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ

ภายใต้แผนการดังกล่าว เวียดนามจะขยายกำลังการผลิตไฟฟ้ามากกว่า 150 กิกะวัตต์ ภายในปี 2573 เพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่คาดการณ์ว่าจะขยายตัว 7.0% ต่อปี

นอกจากนี้ สื่อท้องถิ่นรายงานว่า เมื่อสัปดาห์ก่อน เวียดนามได้เปิดสายส่งไฟฟ้าใหม่ขนาด 110 กิโลโวลต์จากจีน เพื่อเพิ่มการซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน อีกทั้งเวียดนามยังวางแผนเพิ่มการนำเข้าไฟฟ้าจากประเทศลาว

โดยเวียดนามตั้งเป้าเพิ่มการนำเข้าไฟฟ้าเป็น 5 กิกะวัตต์ภายในปี 2573 คิดเป็นร้อยละ 3.3 ของพลังงานไฟฟ้าผสม ณ สิ้นปี 2563 เวียดนามได้นำเข้าไฟฟ้าทั้งสิ้น 572 เมกะวัตต์ โดยส่วนใหญ่มาจากจีนและลาว

Back to top button