เปิดกลยุทธ์ลงทุน มิ.ย. ชู 3 กลุ่มเด่นรับ “ดอกเบี้ย” ขาขึ้น-ปรับค่าแรงขั้นต่ำ

“บล.ทรีนีตี้” ประเมินหุ้นเดือนมิ.ย. ไซด์เวย์ โดยช่วงครึ่งเดือนแรกมีแนวโน้มดีกว่าครึ่งเดือนหลัง ยังคงแนะลงทุน 11 หุ้น ในกลุ่มธนาคาร, สินเชื่อ และกลุ่มบริโภค รับดอกเบี้ยขาขึ้นและปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ


นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด เปิดเผยถึงทิศทางการลงทุนเดือนมิถุนายน 2566 ว่า สำหรับภาพตลาดหุ้นไทยในเดือนมิถุนายน คาดว่าจะแกว่งตัว Sideways โดยมองกรอบแนวรับ 2 ระดับได้แก่บริเวณ 1500 จุดและ 1470 จุด ซึ่งบริเวณ 1470 จุดนั้นมองเป็นแนวรับสำคัญเนื่องจากเป็นระดับที่เทียบเคียงเท่ากับค่า PBV 1.4 เท่า ซึ่งในอดีตมักเป็นระดับที่ดัชนี SET ค่อนข้างมีเสถียรภาพ ในทางกลับกัน มองแนวต้าน 2 ระดับที่บริเวณ 1570 จุดและ 1600 จุดตามลำดับ โดยระดับ 1600 จุดเป็นระดับที่ไม่น่าผ่าน เนื่องจากเป็นระดับดัชนีที่เหมาะสมในกรณีดีสุดของเรา (Bull case) อิงค่า PE อยู่ที่ 14.2 เท่า และระดับปี 2567 EPS อยู่ที่ 113 บาท

ทั้งนี้ ประเมินภาพดัชนีหุ้นในช่วงครึ่งเดือนแรกมีโอกาสดีกว่าครึ่งเดือนหลัง จากการที่ในช่วงแรกนักลงทุนน่าจะเริ่ม Price in ความเป็นไปได้ที่ Fed จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 13-14 มิถุนายน 2566 ซึ่งยังคงมีความเห็นเช่นเดิมว่ามีโอกาสสูงที่จะเกิดขึ้น จากทิศทางตัวเงินเฟ้อที่อ่อนตัวลงมาพอสมควรในช่วงหลัง และการออกมาส่งสัญญาณ Dovish ของกรรมการ Fed ต่างๆที่เด่นชัดมากขึ้น  แต่หลังจากการประชุม FOMC ผ่านพ้นไปแล้ว อาจเห็นแรงขายทำกำไรหรือการ Sell on fact เกิดขึ้นได้

สำหรับในเชิงกลยุทธ์  ยังคงแนะนำใช้กลยุทธ์ขึ้นขาย-ลงซื้อตามกรอบแนวต้าน-แนวรับที่กำหนดไว้ โดยมีกลุ่มหุ้นแนะนำประจำเดือนนี้ ดังนี้

1. กลุ่มธนาคารที่น่าจะยังได้ประโยชน์จากวงจรดอกเบี้ยขาขึ้น ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL, ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK, บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB 

  1. กลุ่ม Consumer finance ที่ได้ประโยชน์จากแนวนโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งจะทำให้ความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยของกลุ่มคนฐานรากและความสามารถในการชำระหนี้ปรับสูงขึ้น ได้แก่ บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAWAD,
    บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC, บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) หรือ TIDLOR     
  2. กลุ่มที่อิงกับภาคการบริโภคที่ยังเห็นการขับเคลื่อนที่ดี และยังได้ประโยชน์สุทธิจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ได้แก่ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC, บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) หรือ MAKRO, บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) หรือ CRC, บริษัท สยามโกลบอลเฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ GLOBAL, บริษัท ดูโฮม จำกัด (มหาชน) หรือ DOHOME

Back to top button