“ปธ.สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย” ห่วงประเด็นขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เตรียมถก “พิธา” 13 มิ.ย.นี้

“ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย” เตรียมถกหารือเกับ “พิธา” 13 มิ.ย.นี้ พร้อมยกปัญหา 5 ข้อที่ต้องการให้มีการแก้ไข โดยเฉพาะประเด็นขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 450 บาท เหตุเอสเอ็มอีรายย่อยยังไม่ฟื้นตัว


นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เปิดเผยว่า ในวันที่ 13 มิถุนายนนี้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมทีมเศรษฐกิจของพรรค จะเดินทางมาที่สมาพันธ์ เพื่อพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนและรับฟังถึงสถานการณ์เอสเอ็มอี และรับฟังแนวทางต่างๆ ของทั้งสองฝ่าย ซึ่งขณะนี้ทางสมาพันธ์อยู่ระหว่างการหารือภายในเพื่อเก็บข้อมูลและข้อเสนอของเครือข่ายเอสเอ็มอีทั่วประเทศ  ทั้งนี้ สหพันธ์จะมุ่งเน้นการเกิดปฏิบัติได้จริงในการฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก และเอสเอ็มอีคาดหวังหลังการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ จะมีการขับเคลื่อนอย่างจริงจัง

นอกจากนี้อยากเสนอให้รัฐบาลใหม่นำการผลักดันเอสเอ็มอีเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อกำหนดแนวทางและเป้าหมายร่วมกันของรัฐและเอกชนให้เกิดเป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง โดยเบื้องต้นทางสมาพันธ์ได้เตรียมกลไก 5 ประเด็นขึ้นมาหารือในครั้งนี้ ประกอบด้วย 1.เรื่องการขจัดปัญหาสะสมที่มีผลต่อต้นทุนและขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะการปรับขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำเป็นวันละ 450 บาท ซึ่งเรื่องนี้มีผลกระทบ และยังเห็นว่าไม่ถึงเวลาที่จะมีการปรับค่าแรงในอัตราสูงๆ ทันที ด้วยสภาพเศรษฐกิจและความพร้อมของเอสเอ็มอีรายย่อย ยังไม่ฟื้นตัวเท่าก่อนเกิดเชื้อโควิด-19 ระบาด ยังมีหนี้สะสมสูง ยอดประกอบการยังไม่นิ่ง และกำลังซื้อทั่วไปยังไม่คล่องตัว

2.เร่งแก้กฎหมายและกฎระเบียบที่ล้าสมัยและยังเป็นอุปสรรค ซึ่งวันนี้ยังมีขั้นตอนและใช้เวลามากต่อการจะยื่นขออนุมัติเรื่องใดเรื่องหนึ่งเพื่อให้เกิดการทำธุรกิจ อยากให้รื้อระบบที่ต้องใช้เวลาและค่าใช้จ่ายในระบบและนอกระบบ

3.สนับสนุนให้เอสเอ็มอีเป็นเครื่องมือหนึ่งในการหารายได้เข้าประเทศ ทั้งการส่งเสริมการพัฒนาและลงทุนในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งตอนนี้จะมีธุรกิจขนาดใหญ่ที่มักได้รับการคัดเลือกก่อน

4.ยกระดับสมรรถภาพและขีดคงามสามารถเอสเอ็มอีและแรงงานภาคเอสเอ็มอี โดยส่งเสริมการเข้าถึงนวัตกรรม มาตรฐานสากล ออกระเบียบเอื้อการทำธุรกิจรายย่อยโดยตรง และหนุนการใช้ดิจิทัลแพลตฟอร์มมาเสริมการทำงาน ที่จะมีผลดีต่อการลดต้นทุนในอนาคต

  1. เร่งช่วยเหลือให้เอสเอ็มอีได้เข้าถึงแหล่งทุน และมีการออกกลไกเฉพาะเพื่อช่วยเอสเอ็มอีเช่น จัดตั้งกองทุนใหม่ หรือปรับกองทุนเดิมที่มีอยู่ มาเพิ่มสัดส่วนให้เอสเอ็มอีได้เข้าถึง ทดแทนที่เอสเอ็มอีต้องดิ้นร้นหาแหล่งทุนนอกระบบหรือเข้าระบบนอนแบงก์ ที่ต้องเสียอัตราดอกเบี้ยสูงถึง 20-30% จากในระบบ 7-12%

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ทั้ง 5 ประเด็นดำเนินการโดยเร็วและเป็นมาตรฐานเดียวกัน รัฐบาลใหม่ต้องเริ่มปรับใน 5 เรื่องควบคู่กันไป คือกำหนดนิยามเอสเอ็มอีให้เหมือนกัน เพราะวันนี้แต่ละหน่วยงานกำหนดนิยามเอสเอ็มอีที่แตกต่างกัน ทำให้การเข้าเงินทุนหรือความช่วยเหลือตามมาตรการรัฐหรือเอกชนแตกต่างและตรงจุดน้อย

สำหรับเรื่องการปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% ทำให้อัตราดอกเบี้ยขึ้นเป็น 2% กระทบต่อภาระที่เพิ่มขึ้นของเอสเอ็มอีโดยเฉพาะรายย่อยสูงขึ้นในอีก ที่ตอนนี้หลายแสนรายก็ยังเข้าไม่ถึงแหล่งทุนในระบบ และต้องพึ่งพาเงินนอกระบบต่อไปเรื่อยๆ ขึ้นดอกเบี้นมีผลต่อราคาสินค้าและเงินเฟ้อขยับขึ้นไปอีก ยังมีปัญหาสะสมเดิมอีก ทั้งต้นทุนพลังงาน ค่าไฟ วัตถุดิบ ค่าจ้างแรงงาน ตลาดซื้อฝืด หนี้สูง

ดังนั้นจึงอยากให้รัฐบาลใหม่ควรจะดีไซต์มาตรการที่จะพยุงเอสเอ็มอีไม่แค่อยู่รอด แต่รอดแบบยั่งยืนด้วย เอสเอ็มอีไม่ยากแค่แลกเงินแต่อยากให้มั่นคงด้วย แน่นอนการอยากเห็นตั้งรัฐบาลใหม่โดยเร็ว เพื่อให้ความไม่ชัดแจนและการตัดสินใจเดินหน้าต่อการทำธุรกิจไม่ชะงักนาน

Back to top button