ZIGA วางระบบไอทีใหม่ หลังถูกยักยอกเงินขาย “คริปโต” ทำตั้งสำรองหนี้ 103 ล้าน

ZIGA วางระบบไอทีภายในใหม่ หลังถูกยักยอกทรัพย์จำหน่ายโทเคนดิจิทัล "ZiiToken"ทำตั้งสำรองหนี้ 103 ล้านบาท ส่งผลให้งบการเงินปี 65 ขาดทุน


บริษัท ซิก้า อินโนเวชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ZIGA ได้ชี้แจงข้อมูลในงบการเงินประจำ ปี2565 มายังตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในประเด็นความเสียหายจากการตั้งค่าเผื่อผลขาดทุน ด้านเครดิตของลูกหนี้การค้าและลูกหนี้อื่นในธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจำนวน 103 ล้านบาท ซึ่งบริษัทได้ฟ้องอดีตกรรมการ บริษัท วิสเดนกรุ๊ป จำกัด (วิสเดน) กับพวกในข้อหาร่วมกันยักยอกทรัพย์เนื่องจากไม่ส่งมอบเงินที่ได้จากการจำหน่ายโทเคนดิจิทัล “ZiiToken” โดยบริษัทชี้แจงว่าเนื่องจากบริษัทย่อยเพิ่งถูกจัดตั้งขึ้น จึงยังไม่ได้มีการนำระบบควบคุมภายในมาใช้อย่างเต็มรูปแบบ

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่เกิดปัญหาและความผิดพลาด บริษัทอยู่ระหว่างการดำเนินการที่จะจัดให้มีระบบการควบคุมภายในที่ดีเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวอีกในอนาคต

ทั้งนี้ ตามที่บริษัทได้กำหนดแนวทางการควบคุมภายในของวิสเดนนั้น ขอให้ระบุกรอบระยะเวลาที่คาดว่า จะดำเนินการแล้วเสร็จซึ่งรวมถึงการประเมินผลหลังจากนำไปปฏิบัติ ทั้งนี้แนวทางดังกล่าวได้มีการสอบทานและประเมินประสิทธิผลโดยผู้สอบบัญชีและผู้ตรวจสอบภายในตามที่ระบุในแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี 2565 ของบริษัทหรือไม่ อย่างไร

โดยบริษัทฯ ชี้แจงว่าเป็นผู้ผลิตท่อเหล็ก pre-zinc ภายใต้แบรนด์ ZIGA และ Electrical Conduit ภายใต้แบรนด์ DAIWA ซึ่งได้รับความไว้วางใจจากโครงการสำคัญทั้งในและนอกประเทศด้วยมาตรฐานผู้ผลิตสากล บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจด้วยจริยธรรมธุรกิจและความโปร่งใส และต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นทุกรูปแบบตลอดมาในปี 2565 บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับธุรกิจที่จะมีบทบาทในอนาคตเพื่อสร้างผลตอบแทนผู้ถือหุ้นในระยะยาวและก้าวสู่ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล โดยเริ่มจากบริษัทย่อย ซิก้า เอฟซี จำกัด ทำธุรกิจเหมืองบิตคอยน์และบริษัทย่อย วิสเดน กรุ๊ป จำกัดและบริษัทย่อย เมอร์ลินตั้น จำกัด ทำธุรกิจต่อยอดของเหรียญ BTC บริษัท วิสเดน กรุ๊ป จำกัด ดูแล Token Utilities โดยการนำเหรียญ BTC ไปสร้างมูลค่าเพิ่ม และบริษัท เมอร์ลินตั้น จำกัด ดูแล Fintech ซึ่งบริษัทย่อย ทุกบริษัทฯ มีทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท

ขณะเดียวกันผู้บริหารบริษัทฯ มีความเชี่ยวชาญด้านไฟฟ้าและพลังงาน เนื่องจากอยู่ในวงการผู้รับเหมาไฟฟ้า จึงดูแลบริษัท ซิก้า เอฟซี จำกัด ซึ่งเป็นเหมืองบิตคอยน์และอาศัยกรรมการบริษัทย่อยที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีเป็นฝ่ายปฏิบัติและจัดการบริษัทย่อย บริษัทดำเนินการขั้นสูงสุดเพื่อมิให้เกิดความเสียหายและเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นอีกในอนาคต โดยการยุติธุรกิจ Token Utilities ในบริษัท วิสเดน กรุ๊ป จำกัด และวางแผนปิดบริษัทย่อย วิสเดน กรุ๊ป จำกัด หลังจบคดีข้อพิพาท อีกทั้งได้ดำเนินการปิดบริษัท เมอร์ลินตั้น จำกัด ซึ่งยังไม่สร้างรายได้ และเหลือบริษัทย่อยเพียงบริษัทเดียวคือ บริษัท ซิก้า เอฟซี จำกัด ที่ดูแลเหมืองบิตคอยน์ทั้งนี้เพื่อควบคุมความเสี่ยงและดำเนินแผนธุรกิจสอดคล้องกับกลยุทธ์บริษัทฯ  ดังนั้นจึงไม่มีความเสียหายเพิ่มเติมจากธุรกิจ Token Utilities

สำหรับบริษัทฯ ได้ถอดบทเรียนเพื่อเป็นแนวทางการดำเนินงานหากมีการทำธุรกิจประเภทนี้ในอนาคตเพื่อป้องกันการทุจริตจากฝ่ายจัดการในบริษัทย่อยดังนี้

การควบคุมภายในและบริหารจัดการความเสี่ยง บริษัทฯ มีการควบคุมภายในที่เพียงพอ จึงสามารถตรวจพบรายการผิดปกติและได้ดำเนินการทางกฎหมายได้เมื่อตรวจพบบริษัท วิสเดน กรุ๊ป จำกัด เป็นบริษัทย่อยที่เพิ่งจัดตั้ง ในปี 2565 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่ตรวจพบรายการผิดปกติและรายการที่เกิดความเสียหาย เกิดขึ้นหนึ่งรายการซึ่งมีขนาดรายการใหญ่ ซึ่งบริษัทฯ ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบและได้เปลี่ยนผู้มีอำนาจในการอนุมัติเมื่อตรวจพบว่ามีเหตุการณ์ผิดปกติ กรรมการที่มีอำนาจการจัดการของบริษัทย่อยฯ ที่มีกรณีพิพาทในการยักยอกทรัพย์เป็นผู้มาจากสายงานเทคโนโลยี และไม่ได้เคยเป็นกรรมการในธุรกิจหลักของบริษัทฯ จึงไม่ได้กระทบกับด้านอื่นของบริษัทฯซึ่งมีรายได้หลักจากธุรกิจท่อเหล็กร้อยสายไฟและท่อเหล็ก Pre-zinc

สำหรับความหมายของการควบคุมภายในเต็มรูปแบบของบริษัทฯ คือ การนำระบบสารสนเทศเต็มรูปแบบมาติดตาม ซึ่งบริษัทฯมีแผนงานลงทุนเพิ่มในระบบสารสนเทศหากบริษัทย่อยมีความสามารถสร้างรายได้ และบริษัทฯ พิจารณาตามความเหมาะสมของสภาพแวดล้อมการควบคุม ซึ่งบริษัทได้ประเมินการควบคุมภายในให้เพียงพอในการดูแลการดำเนินงานตามเป้าหมาย วัตถุประสงค์ กฎหมายและข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องและจะจัดการให้มีบุคคลากรที่เพียงพอและดำเนินงานตามระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการจัดทำบัญชีและรายงานทางการเงินที่ถูกต้องน่าเชื่อถือ และได้ถอดบทเรียนจากกรณีพบการทุจริตครั้งนี้เพื่อป้องกันความเสียหายในกรณีแบบเดียวกันในอนาคต โดยเฉพาะการปลูกฝังค่านิยมเรื่องการต่อต้านการทุจริตทุกรูปแบบ และ มีนโยบายการแจ้งเบาะแสการกระทำผิด (whistleblowing policy) เพื่อเปิดรับการแจ้งเบาะแสการกระทำผิดต่างๆ เพื่อป้องกันความเสียหายจากการคอร์รัปชั่น เพราะถึงแม้บริษัทย่อยจะสามารถจำกัดความรับผิดเพียงทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท ทว่าสามารถสร้างความเสื่อมเสียชื่อเสียงของบริษัทฯและความเสียหายได้ ซึ่งบริษัทฯให้ความสำคัญต่อจรรยาบรรณธุรกิจ และความโปร่งใส ตลอดจนบริษัทฯ ได้ปลูกฝังค่านิยมองค์กรในการต่อต้านทุจริตคอรัปชั่นตลอดมา

ส่วนการกำหนดแนวทางของฝ่ายจัดการเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวอีกในอนาคต สำหรับการควบคุมระบบภายในบริษัทย่อย ซึ่งได้นำเสนอกรรมการตรวจสอบเพื่อพิจารณาอนุมัติเรียบร้อยแล้ว สรุปได้ดังต่อไปนี้

โดยให้ฝ่ายปฏิบัติงานพิจารณาจัดลำดับความสำคัญและประเมินความเสี่ยงในกิจกรรมหรือขั้นตอนในการทำงาน เพื่อนำมาพิจารณากำหนดแนวทางที่จำเป็นต้องใช้เพื่อให้เกิดความมั่นใจอย่างสมเหตุสมผลว่า ความผิดพลาด เสียหายจะไม่เกิดขึ้น หรือหากเกิดขึ้นก็จะอยู่ในระดับที่ไม่เป็นอันตราย หรือไม่เป็นอุปสรรคต่อความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ขององค์กรว่ามีงานใดที่ต้องให้ความสำคัญและมีความเสี่ยงอย่างไร

อีกทั้งพิจารณากำหนดแนวทางจัดการกับความเสี่ยงอย่างเหมาะสม โดยในการวิเคราะห์ความเสี่ยงจะมี

1) การจัดลำดับความสำคัญของปัจจัยความเสี่ยง                                                                                                    2) ประมาณผลกระทบของความเสี่ยงที่มีต่อองค์กร และโอกาสที่จะเกิดความเสี่ยง ว่าอยู่ในระดับใด โดยอาจกำหนดเป็น 3 ระดับ คือ สูง ปานกลางต่ำ เมื่อทราบถึงระดับความเสี่ยงที่องค์กรเผชิญอยู่แล้ว

ด้านผู้บริหารก็จะนำมาพิจารณากำหนดแนวทาง จัดการกับความเสี่ยงที่มีสาระสำคัญและมีโอกาสที่จะเกิดสูงอย่างเหมาะสม โดยทั่วไปกรณีเป็นความเสี่ยง ที่มีสาเหตุจากปัจจัยภายในองค์กรจะใช้วิธีจัดระบบการควบคุมภายใน และกรณีเป็นความเสี่ยงที่มีสาเหตุจากปัจจัยภายนอกจะใช้วิธีการบริหารความเสี่ยง

1.พิจารณาและจัดเตรียมประกาศระเบียบหรือแนวปฏิบัติ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานให้ครอบคลุมการด เนินงานและการดำเนินธุรกิจหลักของบริษัทฯ เช่น ระเบียบเกี่ยวกับการรับชำระเงินของบริษัทฯ ให้รัดกุมและเหมาะสมมากขึ้น เช่น ไม่อนุญาตให้รับเงินจากลูกค้าหรือคู่ค้าเข้าบัญชีธนาคารที่ไม่ใช่ชื่อบัญชีของบริษัท เว้นแต่มีเหตุผลพิเศษและต้องได้รับอนุมัติจากที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทก่อน จึงจะสามารถทำได้ เป็นต้น

2.ปรับปรุงให้มีการตรวจสอบและติดตามการรับชำระเงิน ให้เป็นไปตามข้อกำหนดและ/หรือข้อสัญญาที่บริษัททำไว้ (ถ้ามี) อย่างเคร่งครัด

3.ให้มีการทำบัญชีตามหลักการบัญชีที่เรียบร้อย สมบูรณ์และเป็นปัจจุบัน
4.ทำรายงานผลการดำเนินงานเสนอคณะกรรมการให้รับทราบอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้คณะกรรมการสามารถช่วยทำหน้าที่ติดตามและให้คำแนะนำฝ่ายปฏิบัติงานได้อย่างเหมาะสมและทันท่วงที

ขณะที่ความเห็นของคณะกรรมการตรวจสอบต่อความเพียงพอของระบบควบคุมภายในของวิสเดนจากการกำหนดแนวทางการควบคุมภายในของตามข้อ 1 รวมถึงระบบควบคุมภายในของบริษัทและบริษัท ซิก้า เอฟซี จำกัดเนื่องจากคณะกรรมการตรวจสอบเป็นผู้มีบทบาทสำคัญและมีหน้าที่สอบทานให้กลุ่มบริษัทมีระบบการควบคุมภายใน ที่เหมาะสมและมีประสิทธิผล เพื่อให้บริษัทมีคุณสมบัติครบถ้วนในการดำรงสถานะเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

บริษัทฯ ขอชี้แจงดังนี้ ความเห็นของคณะกรรมการบริษัทและกรรมการตรวจสอบ ในการประชุมคณะกรรมการของบริษัท ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2566 โดยมีคณะกรรมการตรวจสอบและกรรมการอิสระเข้าร่วมประชุมครบองค์ประชุม คณะกรรมการได้ประเมินระบบควบคุมภายในว่าการควบคุมภายในและบริหารจัดการความเสี่ยงที่เหมาะสม และเพียงพอในการดูแลการดำเนินงานให้เป็นไปตามเป้าหมาย วัตถุประสงค์ กฎหมายและข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีประสิทธิภาพ และได้จัดทำบัญชี และรายการทางการเงินที่ถูกต้องและน่าเชื่อถือไม่มีข้อบกพร่องที่เป็นสาระสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อรายงานทางการเงิน และรายงานตรวจสอบและผลการประเมินระบบภายในของบริษัท และบริษัทย่อย ซิก้า เอฟซี จำกัด ในด้านต่างๆ เพียงพอและเหมาะสม ภายใต้ สภาพแวดล้อมการควบคุม การประเมินความเสี่ยง มาตรการการควบคุมและการติดตามที่เหมาะสม

Back to top button