ยอด EV ไทยพุ่ง! สนค.แนะเร่งส่งเสริม “จุดชาร์จ-ผลิตชิ้นส่วน”

กระทรวงพาณิชย์ เปิดข้อมูลรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกเติบโตต่อเนื่อง ตอบรับเทรนด์ลดผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ขณะที่ตลาด EV ไทยเติมโตเพิ่มขึ้น 86.58%


นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์  ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า หรือ สนค. กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค. ได้ติดตามสถานการณ์ตลาดรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ของประเทศที่สำคัญ พบว่า มีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก หันมาสนับสนุนการผลิต และการใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับความตกลงปารีส (Paris Agreement) ที่ทุกประเทศตั้งเป้าหมาย ในการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลก โดยการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ และการสนับสนุนกลไกต่าง ๆ เพื่อลดผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และแก้ปัญหาภาวะเรือนกระจก

โดยในส่วนของ จีน มีการกำหนดแผนพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า 5 ปี มีมาตรการต่างๆ อาทิ ส่งเสริมการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ อุดหนุนการซื้อรถยนต์ไฟฟ้าเป็นเงิน 2,300–3,200 เหรียญสหรัฐต่อคัน ทำให้ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในจีนเพิ่มขึ้นมาก จาก 1,060,000 คัน ในปี 2562 เป็น 3,000,000 คัน ในปี 2564 และในช่วงเดือนมกราคม–พฤศจิกายน 2565 มียอดขายอยู่ที่ 4,730,000 คัน คิดเป็นสัดส่วน 19% ของยอดขายรถยนต์ใหม่ทั้งหมดในจีน

สำหรับ สหภาพยุโรป อยู่ระหว่างการผลักดันเรื่องการหยุดการจำหน่ายเครื่องยนต์สันดาปภายในปี 2578 เพื่อเร่งผลักดันการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในยุโรป และส่งเสริมให้ผู้ผลิตรถยนต์ในยุโรปหันมาผลิตรถยนต์ไฟฟ้ามากยิ่งขึ้น และยังเตรียมออกร่างกฎหมายกำหนดจุดชาร์จไฟฟ้าในประเทศสมาชิก แต่กลุ่มผู้ผลิต เช่น ในเยอรมนี และอิตาลี เห็นว่าการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคของรถยนต์ไฟฟ้ายังมีความท้าทายหลายประการ อาทิ แบตเตอรี่ยังมีคุณภาพและเสถียรภาพไม่สูงพอ และมีข้อจำกัดด้านโครงสร้างพื้นฐานอย่างสถานีชาร์จรถไฟฟ้า และปัญหาความพร้อมด้านทักษะแรงงาน ส่วนยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในยุโรป ช่วงปี 2559-2564 เพิ่มขึ้นด้วยอัตราการเติบโตต่อปีที่ 61% สำหรับปี 2564 มียอดขายรถยนต์ไฟฟ้าอยู่ที่ 2.3 ล้านคัน เพิ่มขึ้นกว่า 65%

ส่วน สหรัฐอเมริกา ได้ออกกฎหมาย Inflation Reduction Act เพื่อส่งเสริมการลงทุนด้านพลังงานสะอาดและการสร้างแรงจูงใจทางการเงิน เพื่อผลักดันให้ผู้ประกอบการสหรัฐฯ ลด-ละ-เลิก ใช้พลังงานฟอสซิล อาทิ การให้เครดิตภาษีให้กับอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่ปรับธุรกิจมาใช้พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานนิวเคลียร์ การให้เครดิตเงินคืนแก่ผู้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้า และเงื่อนไขการจัดหาวัตถุดิบที่มีความเข้มงวด  ทำให้ผู้ผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนในสหรัฐฯ เกิดการปรับตัว ทำให้ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในสหรัฐฯ 9 เดือนแรกของปี 2565 มียอดขายอยู่ที่ 530,577 คัน ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งมียอดขาย 470,000 คัน

ขณะที่ ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของไทย พบว่า มีแผนการสนับสนุนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าภายใต้นโยบาย “30/30” คือการตั้งเป้าหมายให้ไทยผลิตรถยนต์ไฟฟ้าได้ 30% ภายในปี 2573 โดยรัฐบาลไทยได้มีการออกมาตรการสนับสนุนทั้งการสนับสนุนการผลิตแบตเตอรี่ด้วยการให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีสรรพสามิตจาก 8% ลดเหลือ 1% และการอุดหนุนการซื้อยานยนต์ไฟฟ้า ไม่เกินคันละ 150,000 บาท โดยผู้ขอรับสิทธิต้องเป็นบุคคลตามประกาศกรมสรรพสามิตกำหนด

ส่วนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของไทยในปี 2565 มีจำนวน 92,746 คัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 34.93% ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ปี 2565 จำนวน 72,158 คัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 86.58% และการส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าของไทยไปยังโลก ในช่วงปี 2560–2565 มีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 6.33% ต่อปี

โดยในปี 2565 ไทยส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าเป็นอันดับที่ 24 ของโลก และเป็นอันดับที่ 4 ของเอเชีย รองจากญี่ปุ่น จีน และเกาหลีใต้ คิดเป็นมูลค่าการส่งออก 497.50 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยประเทศที่ไทยส่งออกมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่นสัดส่วน 51.05% เวียดนามสัดส่วน 14.54% ฟิลิปปินส์สัดส่วน 9.17% เม็กซิโกสัดส่วน 9.03% และอินโดนีเซียสัดส่วน 6.63%

ทั้งนี้ สนค. มีข้อเสนอแนะว่า สิ่งที่ไทยควรดำเนินการเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า คือจะต้องมุ่งส่งเสริมตลาดภายในประเทศ โดยการกระตุ้นการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้อง เพราะเป็นสินค้าส่งออกอันดับต้นของไทย โดยผู้ผลิตต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับกฎหมาย กฎระเบียบ และติดตามมาตรการทางการค้าอย่างใกล้ชิด ตลอดจนต้องเข้าร่วมกิจกรรมสร้างเครือข่ายกับผู้นำเข้า

นอกจากนี้ ต้องเร่งส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการผลิตและใช้รถยนต์ไฟฟ้า อาทิ การตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้า สนับสนุนผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน ส่งเสริมการตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า และส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี รวมทั้งต้องพัฒนาด้านแรงงาน และบุคลากรที่จำเป็น โดยสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนและสถาบันการศึกษา เพื่อเข้าไปส่งเสริมด้านการวิจัยและพัฒนาให้มากขึ้น รวมไปถึงอาจใช้ต้นแบบจากประเทศที่มีวิธีการปฏิบัติที่ดี

Back to top button