ตลท.ชี้กลุ่ม “เทคโนโลยี-การเงิน” ชนะดัชนี SET เดือนก.ค.

ตลาดหลักทรัพย์ฯ เผยเดือนก.ค. ดัชนีตลาดหุ้นไทยปิดที่ 1,556.06 จุด ปรับเพิ่มขึ้น 3.5% ชี้กลุ่มเทคโนโลยีและการเงินปรับตัวขึ้นดีกว่ามาก ด้าน ADB ปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP ไทยปีนี้เติบโต 3.5%


นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในเดือนกรกฎาคม 2566 ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) รายงานว่าภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกฟื้นตัวจากการระบาดของ COVID-19 ในอัตราที่มั่นคงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดีเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีแนวโน้มขยายตัวลดลงมาที่ 4.6% ในปีนี้ และ 4.9% ในปีหน้า ทั้งนี้ ADB ปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยไปที่ 3.5% จากที่เคยประมาณการไว้ที่ 3.3% ในเดือนเมษายน และหากพิจารณาจากอัตราส่วน Forward PE ของ SET Index ค่อนข้างต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต ทำให้ผู้ลงทุนบุคคลและสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 6 เดือนต่อเนื่อง

ส่วนภาวะตลาดหลักทรัพย์ไทย ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2566 SET Index ปิดที่ 1,556.06 จุด ปรับเพิ่มขึ้น 3.5% จากเดือนก่อนหน้า และปรับลดลง 6.7% เมื่อเทียบกับสิ้นปีก่อนหน้า อย่างไรก็ตามพบว่าในเดือนกรกฎาคม 2566 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีกว่า SET Index เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2565 ได้แก่ กลุ่มเทคโนโลยี และ กลุ่มการเงิน

ขณะที่ในเดือนกรกฎาคม 2566 มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันใน SET และ mai อยู่ที่ 46,002 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า 25.3% โดยมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันใน 7 เดือนแรกปี 2566 อยู่ที่ 56,873 ล้านบาท ทั้งนี้ผู้ลงทุนต่างชาติขายสุทธิเป็นเดือนที่ 6 โดยในเดือนกรกฎาคม 2566 ผู้ลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 12,558 ล้านบาท อย่างไรก็ดี ผู้ลงทุนต่างประเทศมีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายสูงสุดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 15 ในส่วนของผู้ลงทุนรายย่อยในประเทศแม้ว่าจะมีมูลค่าการซื้อขายลดลงจากช่วงต้นปี แต่จำนวน Active accounts ในช่วงหลัง COVID-19 Pandemic เพิ่มขึ้นค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในช่วงก่อน COVID-19 Pandemic

นอกจากนี้ในเดือนกรกฎาคม 2566 มีบริษัทเข้าจดทะเบียนใหม่ซื้อขายใน SET 1 หลักทรัพย์ ได้แก่ บริษัทแพทย์รังสิตเฮลท์แคร์กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ PHG

สำหรับผลดังกล่าวส่งผลให้ Forward P/E ของตลาดหลักทรัพย์ไทย ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2566 อยู่ที่ระดับ 17.0 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 13.3 เท่า และ Historical P/E อยู่ที่ระดับ 21.3 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 14.6 เท่า ขณะที่อัตราเงินปันผลตอบแทน ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2566 อยู่ที่ระดับ 3.12% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ 3.20%

ขณะที่ภาวะตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในเดือนกรกฎาคม 2566 ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (TFEX) มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 474,850 สัญญา ลดลง 22.0% จากเดือนก่อน ที่สำคัญจากการลดลงของ SET50 Index Futures และ Single Stock Futures และในช่วง 7  เดือนแรกของปี 2566 มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 546,687 สัญญา ลดลง 1.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่สำคัญจากการลดลงของ Single Stock Futures

ด้านนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (FED) อาจขึ้นดอกเบี้ยครั้งสุดท้ายในการประชุมรอบล่าสุดนี้ หลังจากตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไปลดลงต่อเนื่องไปแตะที่ระดับ 3% ในเดือนก่อนหน้า ขณะที่ความน่าจะเป็นที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะถดถอยจะอยู่ในระดับสูงแต่มีแนวโน้มลดลง โดยอัตราว่างงานที่ยังไม่ปรับขึ้นอย่างมีนัยสำคัญส่งผลบวกต่อการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง อีกทั้งเศรษฐกิจจีนหลังการเปิดประเทศขยายตัวต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์มาก หากพิจารณาจากตัวเลขภาคการผลิต และส่งออกของจีนในช่วงที่ผ่านมาหดตัว  ทำให้ธนาคารกลางจีนต้องลดดอกเบี้ยนโยบายลง รวมถึงทางการจีนได้ออกมาตรการกระตุ้นฟื้นฟูและเพิ่มการบริโภคในภาคยานยนต์ อสังหาริมทรัพย์ และภาคบริการ ซึ่งอาจส่งผลบวกต่อบริษัทจดทะเบียนไทยในอนาคต

Back to top button