“ดาวโจนส์” ปิดบวก 105 จุด สวนทางดัชนี S&P500-Nasdaq ปรับตัวลง

“ดัชนีดาวโจนส์” ปิดบวก 105.25 จุด แต่ดัชนี S&P500 และดัชนี Nasdaq ปิดลดลงและปรับตัวลงเป็นสัปดาห์ที่ 2 ติดต่อกัน เนื่องจากการเปิดเผยข้อมูลดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของสหรัฐที่สูงเกินคาดนั้นได้ดันอัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับตัวขึ้น และถ่วงหุ้นเติบโตขนาดใหญ่ที่อ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ยร่วงลง


ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกในวันศุกร์ (11 ส.ค.) แต่ดัชนี S&P500 และดัชนี Nasdaq ปิดลดลงในวันศุกร์และปรับตัวลงเป็นสัปดาห์ที่ 2 ติดต่อกัน เนื่องจากการเปิดเผยข้อมูลดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของสหรัฐที่สูงเกินคาดนั้นได้ดันอัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับตัวขึ้น และถ่วงหุ้นเติบโตขนาดใหญ่ที่อ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ยร่วงลง

ทั้งนี้ ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 35,281.40 จุด เพิ่มขึ้น 105.25 จุด หรือ +0.30%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,464.05 จุด ลดลง 4.78 จุด หรือ -0.11% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 13,644.85 จุด ลดลง 93.14 จุด หรือ -0.68% ในรอบสัปดาห์นี้ ดัชนีดาวโจนส์ปรับตัวขึ้น 0.6% ขณะที่ดัชนี S&P500 ลดลง 0.3% และดัชนี Nasdaq ลดลง 1.9% ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของปีนี้ที่ดัชนี Nasdaq ลดลง 2 สัปดาห์ติดต่อกัน

โดย กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิตประจำเดือนก.ค.ในวันศุกร์ โดยดัชนี PPI ปรับตัวขึ้นมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ทุกรายการ โดยดัชนี PPI ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 0.8% ในเดือนก.ค. เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.7%  และเมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PPI ทั่วไปปรับตัวขึ้น 0.3% ในเดือนก.ค. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.2%

ส่วนดัชนี PPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 2.4% ในเดือนก.ค. เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 2.3% และเมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PPI พื้นฐานปรับตัวขึ้น 0.3% ในเดือนก.ค. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.2%

แม้บรรดาเทรดเดอร์คาดการณ์กันอย่างกว้างขวางว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะยุติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงที่เหลือของปีนี้ แต่การคาดการณ์โอกาสที่เฟดจะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนก.ย.นั้นได้ลดลงเหลือ 88.5% จาก 90% ก่อนการเปิดเผยดัชนี PPI

สำหรับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐอายุ 2 ปีซึ่งปรับตัวตามการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นนั้น ได้ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 4.88% ซึ่งการปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรถ่วงหุ้นเทคโนโลยีรายใหญ่ลง เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นอาจทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว และส่งผลกระทบต่อความสามารถของบริษัทเหล่านี้ที่จะบรรลุเป้าหมายโครงการด้านการขยายตัว

นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นอาจทำให้พันธบัตรมีความน่าดึงดูดใจในการลงทุนมากกว่าหุ้นสำหรับนักลงทุนที่ต้องการหลีกเลี่ยงความเสี่ยง หุ้นเทสลา, เมตาแพลตฟอร์มส อิงค์ และไมโครซอฟท์ ปิดลดลง 0.6-1.3% หุ้นอินวิเดีย ดิ่งลง 3.6% และฉุดหุ้นกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ร่วงลง 2.3% ในวันศุกร์และร่วงลง 5% ในรอบสัปดาห์นี้รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ต้นเดือนเม.ย.

หุ้นกลุ่มเฮลท์แคร์และกลุ่มพลังงานในดัชนี S&P500 ปรับตัวขึ้น โดยหุ้นกลุ่มพลังงานบวก 1.6% ซึ่งได้แรงหนุนจากราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้นหลังสำนักงานพลังงานสากล (IEA) คาดการณ์ผลผลิตน้ำมันที่ตึงตัว

ด้านการเปิดเผยผลประกอบการที่แข็งแกร่งช่วยหนุนหุ้นรายตัว อาทิ หุ้นนิวส์ คอร์ป พุ่ง 4.6% หลังเปิดเผยผลกำไรรายไตรมาสสูงกว่าคาด ซึ่งเป็นผลจากความพยายามในการปรับลดต้นทุน

ส่วนหุ้นจีนที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐ อาทิ อาลีบาบา และเจดี.คอม ร่วงลง 3.5% และ 5.3% ตามลำดับ เนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจล่าสุดของจีนสร้างความผิดหวังให้กับนักลงทุน ขณะที่การเปิดเผยข้อมูลใหม่บ่งชี้ว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนชะลอตัวลง

Back to top button