สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 15 ส.ค.2566

สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 15 ส.ค.2566


ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงหลุดจากระดับ 35,000 จุดในวันอังคาร (15 ส.ค.) หลังสหรัฐเปิดเผยยอดค้าปลีกพุ่งขึ้นมากกว่าคาด ซึ่งทำให้นักลงทุนกังวลว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงต่อไปอีกเป็นเวลานานขึ้น นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับผลกระทบจากการที่ฟิทช์ เรทติ้งส์ ขู่ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของธนาคารสหรัฐ

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 34,946.39 จุด ลดลง 361.24 จุด หรือ -1.02%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,437.86 จุด ลดลง 51.86 จุด หรือ -1.16% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 13,631.05 จุด ลดลง 157.28 จุด หรือ -1.14%

ตลาดหุ้นยุโรปปิดลบในวันอังคาร (15 ส.ค.) นำโดยตลาดหุ้นอังกฤษและสวีเดน หลังการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจของสองประเทศนี้ทำให้เกิดความวิตกเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก ขณะที่หุ้นที่พึ่งพารายได้จากจีนนั้นร่วงลง หลังมาตรการสนับสนุนด้านนโยบายของจีนไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน

ทั้งนี้ ดัชนี STOXX 600 ปิดที่ระดับ 455.57 จุด ลดลง 4.29 จุด หรือ -0.93%

ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 7,267.70 จุด ลดลง 81.14 จุด หรือ -1.10%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 15,767.28 จุด ลดลง 136.97 จุด หรือ -0.86% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,389.64 จุด ลดลง 117.51 จุด หรือ -1.57%

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดลบในวันอังคาร (15 ส.ค.) แตะระดับต่ำสุดในรอบ 1 เดือน โดยถูกกดดันจากเงินปอนด์ที่แข็งค่าขึ้นหลังจากข้อมูลบ่งชี้ว่า ค่าจ้างพื้นฐานขยายตัวในอัตราที่สูงเป็นประวัติการณ์ ซึ่งทำให้เกิดความวิตกเกี่ยวกับแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ ทั้งนี้ ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,389.64 จุด ลดลง 117.51 จุด หรือ -1.57%

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงในวันอังคาร (15 ส.ค.) หลังจากจีนซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลกเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอ นอกจากนี้ นักลงทุนยังกังวลว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของจีนอาจไม่เพียงพอที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวขึ้นได้

ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.ย. ลดลง 1.52 ดอลลาร์ หรือ 1.8% ปิดที่ 80.99 ดอลลาร์/บาร์เรล

ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนต.ค. ลดลง 1.32 ดอลลาร์ หรือ 1.5% ปิดที่ 84.89 ดอลลาร์/บาร์เรล

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปรับตัวลงติดต่อกันเป็นวันที่ 7 ในวันอังคาร (15 ส.ค.) และปิดที่ระดับต่ำสุดในรอบกว่า 1 เดือน เนื่องจากการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐและการแข็งค่าของดอลลาร์ยังคงเป็นปัจจัยกดดันตลาด

ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนธ.ค. ลดลง 8.80 ดอลลาร์ หรือ 0.45% ปิดที่ 1,935.20 ดอลลาร์/ออนซ์ ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 10 ก.ค.

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ย. ลดลง 5.20 เซนต์ หรือ 0.23% ปิดที่ 22.656 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนต.ค. ลดลง 14.60 ดอลลาร์ หรือ 1.61% ปิดที่ 892.20 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนก.ย. ลดลง 34.30 ดอลลาร์ หรือ 2.7% ปิดที่ 1,238.60 ดอลลาร์/ออนซ์

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันอังคาร (15 ส.ค.) หลังสหรัฐเปิดเผยยอดค้าปลีกพุ่งขึ้นมากกว่าคาด ซึ่งทำให้ตลาดคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงต่อไปอีกเป็นเวลานานขึ้น

ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.02% แตะที่ 103.2057

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 145.6500 เยน จากระดับ 145.5120 เยนในวันจันทร์ (14 ส.ค.) ขณะเดียวกันก็แข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3492 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3469 ดอลลาร์แคนาดา และแข็งค่าเมื่อเทียบกับโครนาสวีเดน ที่ระดับ 10.8578 โครนา จากระดับ 10.8109 โครนา แต่ดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.8788 ฟรังก์ จากระดับ 0.8790 ฟรังก์

ส่วนยูโรทรงตัวเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ที่ระดับ 1.0904 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.2705 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2675 ดอลลาร์

Back to top button