“พาณิชย์” ชี้สินค้าไทยเจาะ “ตลาดแปซิฟิก” หนุนกำลังซื้อเพิ่ม

สนค. กระทรวงพาณิชย์ เผยสินค้าไทยมีโอกาสทำเงินในกลุ่มพันธมิตรแปซิฟิก 4 ประเทศแปซิฟิก ชูอาหารสัตว์เลี้ยงโดดเด่น เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้ส่งออกไทยมองเห็นศักยภาพและโอกาสของตลาดใหม่ในกลุ่มพันธมิตรแปซิฟิกได้ชัดเจนขึ้น


นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค. ได้วิเคราะห์ตลาดกลุ่มพันธมิตรแปซิฟิก 4 ประเทศ ได้แก่ เม็กซิโก ชิลี เปรู และโคลอมเบีย เพื่อหาโอกาสสำหรับการเปิดตลาดใหม่เพิ่มเติมตามนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ โดยเน้นตลาดใหม่ ที่มีกำลังซื้อสูง แต่ยังมีมูลค่าการค้ากับไทยไม่มากนัก จึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ส่งออกไทยที่จะหาโอกาสขยายการค้าในตลาดใหม่

สนค. พบว่า กลุ่มพันธมิตรแปซิฟิก (Pacific Alliance: PA) ถือเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของภูมิภาคลาตินอเมริกา มูลค่าจีดีพีของกลุ่มประเทศ PA คิดเป็นสัดส่วน 42.9% ของจีดีพีรวมของภูมิภาคลาตินอเมริกาและแคริบเบียน ถือว่ามีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 8 ของโลก โดยในปี 2565 ชิลี เป็นประเทศที่มีรายได้ต่อหัวสูงที่สุดในกลุ่มประเทศกลุ่มพันธมิตรแปซิฟิกอยู่ที่ 15,356 เหรียญสหรัฐ สูงกว่าไทย 2.2 เท่า กลุ่มพันธมิตรแปซิฟิกมีจำนวนประชากรมากกว่าไทย 3.3 เท่า

โดย เม็กซิโก เป็นประเทศมีประชากรมากที่สุดในกลุ่มประเทศ PA ซึ่งประชากรคิดเป็น 55% ของประชากรทั้งหมดในกลุ่มประเทศ (กลุ่มพันธมิตรแปซิฟิกมีประชากรรวม 233 ล้านคน) สำหรับการค้าระหว่างประเทศ แหล่งนำเข้าสำคัญของกลุ่มพันธมิตรแปซิฟิก 3 ลำดับแรก คือ อเมริกา จีน และบราซิล โดยไทยเป็นแหล่งนำเข้าลำดับที่ 15 คิดเป็น 1.15 % ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปัจจุบันไทยส่งออกไปยังตลาดกลุ่มพันธมิตรแปซิฟิกได้ไม่มาก แต่สินค้าไทยยังมีโอกาสเข้าถึงตลาดกลุ่มพันธมิตรแปซิฟิกได้อีก จากข้อมูลการส่งออกของไทย 8 เดือนแรกปี 2566 ไปยังกลุ่มพันธมิตรแปซิฟิก มีมูลค่ารวม 2,837 ล้านเหรียญสหรัฐ ชะลอตัวลง 2.9% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งคิดเป็น 1.5% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมดจากไทยไปโลก

โดยตลาดส่งออกหลัก คือ เม็กซิโก ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 80% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดจากไทยไปกลุ่มประเทศ PA ตลาดส่งออกรองลงมา คือ ชิลี เปรู และโคลอมเบีย ตามลำดับ โดยมีสินค้าส่งออกหลัก เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อุปกรณ์และส่วนประกอบโทรศัพท์ เป็นต้น สำหรับในระยะต่อไป สนค.มองว่าไทยมีสินค้าศักยภาพหลายรายการที่มีโอกาสเจาะตลาดในกลุ่มพันธมิตรแปซิฟิกได้เพิ่มเติม

โดยสินค้าที่มีศักยภาพในการส่งออกเพิ่มเติม แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ สินค้าดาวเด่น สินค้าศักยภาพ และสินค้าแนะส่งเสริม ดังนี้

สินค้าดาวเด่น เป็นสินค้าส่งออกหลักของไทยในกลุ่มประเทศกลุ่มพันธมิตรแปซิฟิกที่มีแนวโน้มเติบโตดี สะท้อนว่าตลาดยังมีความต้องการ ใน 8 เดือนแรก2566 ไทยส่งออก อุปกรณ์และส่วนประกอบโทรศัพท์ สัดส่วน 6.4% ของสินค้าส่งออกไทยไปกลุ่มพันธมิตรแปซิฟิกทั้งหมด ขยายตัวสูงถึง 206.2% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และส่งออกหม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ สัดส่วน 5.6% ขยายตัว 18.8% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

โดยปี 2565 ไทยครองส่วนแบ่งตลาด อุปกรณ์และส่วนประกอบโทรศัพท์ ในตลาดกลุ่มพันธมิตรแปซิฟิกอยู่ที่ 0.6% และหม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ ที่ 4.9% ซึ่ง สนค. มองว่าสินค้าดังกล่าวยังมีโอกาสขยายการส่งออกและขยายส่วนแบ่งตลาดได้อีก

สินค้าศักยภาพ เป็นสินค้าที่ไทยมีศักยภาพ แต่มีส่วนแบ่งของไทยในตลาดกลุ่มพันธมิตรแปซิฟิกต่ำกว่าส่วนแบ่งของไทยในตลาดโลก ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋อง ในปี 2565 ไทยครองส่วนแบ่งในตลาดกลุ่มพันธมิตรแปซิฟิกอยู่ที่ 14% เปรียบเทียบกับส่วนแบ่งของไทยในตลาดโลกที่ 16.9%

ขณะที่การส่งในช่วง 8 เดือนแรกปี 2566 ขยายตัวสูงถึง 53.3% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ซึ่งไทยครองส่วนแบ่งในตลาดกลุ่มพันธมิตรแปซิฟิกอยู่ที่ 1.8% เปรียบเทียบกับส่วนแบ่งของไทยในตลาดโลกที่ 12.7% ขณะที่การส่งออกช่วง 8 เดือนแรก2566 เพิ่มขึ้น 39.1% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

สินค้าแนะส่งเสริม เป็นสินค้าที่ตลาดมีความต้องการ แต่กลุ่มพันธมิตรแปซิฟิกยังนำเข้าจากไทย ค่อนข้างน้อย หรือมูลค่าการนำเข้าจากไทยมีไม่ต่อเนื่อง จึงเป็นสินค้าไทยที่แนะนำให้เข้าไปเปิดตลาดใหม่ ได้แก่ อาหารสุนัขและแมว และ เหล็กและเหล็กกล้า อย่างไรก็ดี การเข้าสู่ตลาดใหม่ในสินค้าดังกล่าวเป็นเรื่องที่ ท้าทายทั้งจากคู่แข่งทางการค้าเดิมที่มีส่วนแบ่งตลาดค่อนข้างสูง และมาตรฐานสินค้าในกลุ่มประเทศที่ค่อนข้างสูงกว่ากลุ่มประเทศอื่น และตลาดกลุ่มพันธมิตรแปซิฟิกเป็นหนึ่งในตลาดที่น่าจับตามอง แต่ไทยยังมีการค้ากับประเทศเหล่านี้ค่อนข้างน้อย ดังนั้น ไทยยังมีโอกาสเข้าสู่ตลาดนี้ได้อีกมาก

ทั้งนี้ ไทยมีสินค้าที่มีศักยภาพหลายรายการที่สามารถเข้าไปเจาะตลาดกลุ่มนี้ได้เพิ่มเติม ซึ่งปัจจุบัน การส่งออกสินค้าจากไทยไปยังกลุ่มประเทศ PA เป็นสินค้าอุตสาหกรรมเกือบทั้งหมด มากกว่า 95% ของมูลค่าการส่งออกจากไทยไปยังกลุ่มประเทศ PA แต่จากการวิเคราะห์ด้วย Data Analytics Dashboard จะเห็นว่า ไทยก็มีศักยภาพที่เจาะตลาดสินค้าเกษตรแปรรูปและอาหารด้วย โดยเฉพาะสินค้าอาหารทะเลกระป๋อง และอาหารสุนัขและแมว ซึ่งการวิเคราะห์โอกาสทางการค้านี้ เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้ส่งออกไทยมองเห็นศักยภาพและโอกาสของตลาดใหม่ในกลุ่มพันธมิตรแปซิฟิกได้ชัดเจนขึ้น

“นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์มีแผนที่จะเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทยกับกลุ่มพันธมิตรแปซิฟิก ซึ่งจะช่วยขยายโอกาสในการส่งออกสินค้าไทย โดยเฉพาะกับเม็กซิโก และโคลอมเบีย ที่ยังไม่มีความตกลง FTA กับไทย” นายพูนพงษ์ กล่าว

Back to top button